คลังบทความไซ-ไฟ



คลิกเพื่อ กลับสู่รายการบทความทั้งหมด



รีวิว/วิเคราะห์/อภิธานศัพท์ Interstellar (2014) : สุดยอดหนัง Hard Sci-Fi อวกาศ เท่าที่โลกเคยมีมา!
Director: Christopher Nolan
Writers: Jonathan Nolan, Christopher Nolan

Interstellar ต้องถือว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการสร้างหนัง Sci-Fi ที่อิงทฤษฎีหลักความจริงเข้มข้นเป็นพิเศษ ทั้งยังเน้นการสร้างฉากจากของจริงเพื่อให้รู้สึกสมจริงมีจริง (ฉากไม่แฟนตาซีเกินไป)

แน่นอนว่ายังไงแล้ว มันไม่ใช่สารคดี แต่คือ Fiction หรือ เรื่องแต่ง ก็ต้องมีการต่อยอดลูกเล่นไอเดียใหม่ๆที่ล้ำไกลไปกว่าทฤษฎีจริงที่มีอยู่ด้วย อันมีความเป็น High Concept ไปด้วยในตัว อาทิ กรณี สิ่งทรงภูมิมิติที่สูงกว่า เป็นต้น จึงยิ่งทรงคุณค่าเหนือไปอีกระดับ

นับว่าเป็นอีกแนวทาง หรือต้นแบบแห่งการทำหนังยุคใหม่ที่ดีงาม


[* คำเตื่อน บทความนี้มี "สปอยล์" เผยเนื้อหามากพอสมควร ] ทั้งด้วยข้อมูลค่อนข้างยาว และเนื่องจากเป็นการพิมพ์แบบนึกอะไรออก ก็มาใส่ๆเพิ่มๆไปเรื่อยๆ จึงเป็นไปอย่างไม่เป็นทางการนัก และอาจไม่ได้ตรวจทานมากนัก หากมีตกหล่นข้อผิดพลาด ก็ขออภัยล่วงหน้า แต่จะพยายามกลับมาตรวจแก้และค่อยๆปรับไปต่อไป เมื่อเวลาอำนวย (*มีข้อแนะนำ/เสริมเพิ่มเติมใดๆ หรือพูดคุย ได้ที่ page สิ่งทรงภูมิ หรือ twitter @talkscifi )



*เป็นคลิป อธิบายสรุปย่อ เรื่องราว-การเดินทางข้ามอวกาศ ใน Interstellar (ที่สรุปได้ดี เข้าใจง่ายขึ้นเลย ทีเดียว)  

ครั้งหนึ่ง ไอน์สไตน์เคยอธิบายถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพแบบง่ายๆ ว่า ... "เมื่อท่านนั่งอยู่กับสาวสวยน่ารักคนหนึ่ง และคุยกันอย่างสนุกสนานในเวลา 1 ชม. ท่านจะคิดว่าเวลาผ่านไปเพียง 1 วินาที ... แต่ถ้าท่านนั่งลงบนเตาไฟร้อนๆ เพียง 1 นาที ท่านจะคิดว่าเป็น 1 ชม. ... นี่แหละคือความสัมพัทธ์ของข้าพเจ้า " ....และที่ไอน์สไตน์พูดบทนี้แหละที่ส่วนตัวคิดว่า คือ แก่นของหนังเรื่องนี้ ...


" รักคือสิ่งเดียวที่เรารับรู้ได้เหนือมิติเวลาและอวกาศ บางทีเราน่าจะเชื่อมั่นสิ่งนี้ ต่อให้เราไม่เข้าใจมันเลย " - เอมิเลีย แบรนด์

1 - แก่นของ Interstellar : แท้จริงก็คือ เรื่องราวดราม่าที่ว่าด้วยคนที่ต้องจากคนรัก (จากลูก/จากครอบครัว-จากโลก!) ด้วยความจำใจอกตรมเป็นที่สุด ก็ด้วยเห็นว่าเป็นภาระหน้าที่จำเป็น เนื่องจากโลกอยู่ในภาวะเป็นตายขั้นวิกฤติเกินเยียวยาแล้วนั้นเอง ทั้งยังไม่สามารถบอกคนรักได้ด้วยว่าจะกลับมาอีกทีเมื่อไหร่ ( ก็ด้วยในท้องเรื่องต้องเกี่ยวโยงกับการบิดเบี้ยวของมิติกาลเวลาไม่เท่ากัน หรือการบิดเบี้ยวของ Spacetime ตามหลักทฤษฎีสัมพัทธภาพ ) ... และในเรื่อง ลูกรักนาม "เมิร์ฟ" เอง ก็ได้ทำการฉุดรั้งพ่อ "คูเปอร์" ไม่ให้จากกันไปอย่างถึงที่สุด! แต่กระนั้นก็รั้งไม่อยู่ มันจึงเป็นการจากกันอย่างอัดอั้นสาหัสพอกันทั้ง 2 ฝ่าย ... Interstellar ถือเป็นหนังไซ-ไฟอวกาศ ที่มีศัพท์แสง+หลักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จัดหนักมาก(Hard Sci-Fi) แต่ก็สามารถทำให้ผู้ชมอินบทดราม่าซาบซึ้งน้ำตาแตกได้ในหลายๆฉาก (ถึงแม้อาจไม่เข้าใจศัพท์ฟิสิกส์ทั้งหมดก็ตาม) นั้นถือเป็นความยอดเยี่ยมประการหนึ่งของหนัง อาทิ ไม่ว่าฉากที่ต้องจากกันโดยตรง หรือฉากที่ คูป ดูคลิปที่ลูกๆได้ส่งมาทักทายตั้งแต่ในวัยเด็กยันโตเป็นผู้ใหญ่วัยต่างๆ จนมีหลาน! โดยที่ลูกเองก็ไม่รู้ว่าพ่อจะได้ดูคลิปจริงๆหรือเปล่า และก็ฉากปิดท้ายที่พ่อลูกกลับมาเจอกันอีกครั้งก็ทำเอาผู้ชมตื้นตันไปตามๆกัน



" เมื่อพ่อหลับในไฮเปอรสลีฟ หรือเดินทางด้วยความเร็วแสง หรือใกล้กับหลุมดำ เวลาของพ่อจะไม่เปลี่ยน มันจะเดินช้ากว่ามากเลย แล้วเมื่อพ่อกลับมาเราจะเทียบเวลากัน ... พ่อหมายถึงเมื่อพ่อกลับมาเราจะอายุเท่ากันลูกกับพ่อ อะไรเนี่ยคิดดูซิ " - คูเปอร์

2 - ลูกเล่นกรณี "เวลา" : ถือว่าทำหนังได้เฉียบขาด! สอดประสานกลืนเป็นเนื้อเดียวกับพล็อตดราม่าของหนังได้อย่างลงตัว ... จากฉากที่ถึงแม้ "คูป" เหมือนจะได้รับเวลาอันเหลือเฟือกับภารกิจต่างดาวอันเป็นดาวดวงแรกที่ตัดสินใจลงไปสำรวจ นั้นคือ ดาวMiller (ดาวเต็มไปน้ำ/มหาสมุทร ตั้งชื่อตาม Miller ผู้ค้นพบ) อันเวลา 1 ชม.บนดาวนั้น = 7 ปี! ของโลก ก็ด้วยหลักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ผลจากที่ดาวนี้อยู่ใกล้อิทธิพลของแรงโน้มถ่วงจาก หลุมดำ(Blackhole) ค่อนข้างมากนั่นเอง จึงเกิดการบิดเบี้ยวของ กาลอวกาศ(Spacetime) ( พื้นที่ 3มิติปกติ + เวลา) นั้นคือ เวลา ที่ดาวนั้นบิดเบี้ยวไปมาก ในระดับที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ "Time Dilation" หรืออัตราเวลาไม่เท่ากันของดาวที่อยู่ในพื้นที่ Spacetime ต่างกัน (*แต่คนบนดาวนั้นก็รู้สึกเวลาผ่านไปปกติเหมือนๆกัน) จึงส่งผลให้ตัวคูปเองแก่ช้าลงไปอีกหลายปีเมื่อเทียบกับที่โลก ซึ่งฟังเผินๆการมีเวลาเพิ่มขึ้นมากมายน่าจะดีไม่ใช่หรือ ? แต่ผลกลับกลายเป็นยอกย้อนตรงข้าม! ... อัตราเวลาที่ต่างกันมากกับโลกนี้ กลับบีบคั้นให้ต้องเร่งรีบยิ่งกว่าเดิม! เพราะคูปจำเป็นต้องทำงานอ้างอิงกับเวลาที่โลก ด้วยมันหมายถึงยิ่งใช้เวลาที่ต่างดาวมากเท่าไหร ก็จะทำให้คนรัก-ลูกๆครอบครัวที่จากมาต้องจมอยู่กับการรอคอยที่ยาวนานขึ้นเป็นทบทวีคูณกว่าภาวะปกติหลายเท่า! ในระดับที่ อาจแก่ตายจากไปก่อน! หรือกระทั้งโลกดับสูญไปเสียก่อน! ถึงภารกิจสำเร็จก็อาจไม่มีความหมายใดๆเลยสำหรับตัวคูป (พิจารณาในแง่นี้แล้ว อัตราเวลาเท่ากัน 1 ชม. = 1 ชม. ยังดีกวาเสียอีก)



" อย่าบอกพ่อนะว่าลูกกลัวผี ลูกต้องลงลึกกว่านั้น บันทึกข้อมูล วิเคราะห์ ศึกษาว่าอย่างไรทำไม แล้วค่อยสรุป " - คูเปอร์

3 - ลางสังหรณ์/นิมิตบอกเหตุ คือสัญญาณจากคนในมิติที่สูงกว่า!? : อีกลูกเล่นไอเดียไซ-ไฟหักมุมแบบเหนือชั้น! เมื่อการฉุดรั้งคูเปอร์ของ "เมิร์ฟ" ในตอนเริ่มเรื่อง(ข้อ 1.) แท้จริงกลับไม่ใช่แค่การดราม่าธรรมดาๆที่ลูกไม่อยากให้พ่อจากไปแค่นั้น แต่มันกลับมีเบื้องหลัง เชิงวิทยาศาสตร์! ... ด้วยจากสัญญาณปริศนาที่ส่งมาทั้งในรูป รหัสมอร์ส(Morse code) จากหนังสือหล่น และ ค่ารหัสไบนารี(Binary Codes) จากภาวะปรากฏการณ์แรงโน้มถ่วงไม่ปกติในห้องเมิร์ฟ ที่ครั้งหนึ่งเมิร์ฟเคยเล่าและปรึกษากับคูเปอร์บ่อยๆว่ามันอาจคือ ผี! หรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ โพลเทอร์ไกสท์ (Poltergeist)หรือเปล่า และในที่สุด คูปก็ได้รู้เห็นในเหตุการณ์ประหลาดนั้นด้วยด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไรในตอนแรก (*ตอนนี้ถ้าจำได้ ท้องเรื่องก็มีลูกเล่น คุณตาเหน็บพ่อลูกที่ดูจะให้ความสำคัญกับ ผี เป็นพิเศษเกินเหตุ ด้วยคำพูดหยอกๆว่า "เก็บให้เรียบร้อยนะ หลังสวดมนต์ไหว้มันแล้ว" ) ... และเมื่อปริศนาถูกเผยสัญญาณเหตุการณ์ประหลาดเหล่านั้นกลับไม่ใช่ฝืมือผีที่ไหนแต่คือ คูป! พ่อผู้จากไปใน Spacetime อีกมิติ! *อันจะเรียกว่าเป็นสัญญาณของพ่อจากอดีตก็ใช่อยู่แต่ก็ไม่เชิงนัก เพราะแท้จริงมันกลับเป็นการวนลูปซ้ำรอยของเหตุการณ์ในเชิงฟิสิกส์ควอนตัมมิติคู่ขนาน! ไม่ใช่พ่อย้อนอดีตปกติแบบหนังไซ-ไฟย้อนเวลาทั่วไปเสียทีเดียว และนี้คืออีกความพิเศษของพล็อตอันมีเอกลักษณ์ยอกย้อนสดใหม่ของ Interstellar (* กรณีสัญญาณจากมิติอื่นนี้ จะขยายความเสริมเพิ่มเติมพิเศษด้านล่างสมทบต่อไป เพราะถือเป็นปมหัวใจหลักของเรื่องราวทั้งหมดเลยทีเดียว)



" กฎเมอร์ฟี่ ไม่ได้หมายความว่าเรื่องแย่ๆจะเกิด แต่หมายถึงไม่ว่ามันคืออะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด คิดง่ายๆแค่นั้นก็โอเคแล้ว " - คูเปอร์

4 - กฏของเมอร์ฟี (Murphy's Law) : "Anything that can go wrong, will go wrong" / "สิ่งใดก็ตามหากผิดพลาดได้ มันก็จะผิดพลาด" ...หรือนัยหนึ่งอะไรจะเกิดก็ย่อมเกิด... เป็นภาษิตที่มีการกล่าวอ้างถึงกันอย่างกว้างขวางไม่ว่าในวงการวิทยาศาสตร์หรือวงการอื่นๆ ... และจากท้องเรื่อง คูปและทีมนักบินอวกาศ กับการปฏิบ้ติการณ์กู้โลกครั้งนี้ สรุปในตอนต้นได้ว่างานนี้ ล้มเหลว!เสียแล้ว ชนิดเกือบสิ้นหวังอย่างสิ้นเชิง จะว่าเพราะ คูป และทีมงานตัดสินใจผิดพลาดก็ได้ ... และตัว คูป เองก็คงคิดในใจทำนอง "รู้อย่างนี้ไม่น่ามาเลยว่ะ สู้เผชิญวิกฤิตที่โลกถึงจะตายไปกับลูกๆ ก็ยังจะดีกว่า!" ก็ถอนใจจะกลับโลกได้อยู่แล้ว แต่ด้วยอุปสรรค อันเกิดจากการขัดแย้งทางความคิด (*อันเกี่ยวโยงกับกรณี แผน A ช่วยอพยพคนบนโลกไปดาวอื่น? กับ แผน B เพาะตัวอ่อนมนุษย์และสร้างอาณานิคมที่ดาวดวงอื่นเช่นกัน แต่อาจจำต้องทิ้งคนบนโลกเดิมให้ตายไป!) และผนวกการเล่นบทเหี้ยม!ของ Dr.Mann ผู้เป็นนักสำรวจอวกาศอีกคน/อีกชุดที่ได้ล่วงหน้าไปรออยู่ก่อน บนดาวสำรวจอีกดวงดวง อันเป็นดวงที่ 2 ที่คูปและทีมตัดสินใจลงไป นั้นคือ ดาวน้ำแข็ง หรือเรียก ดาวDr.Mann (*ดาวดวงนี้อัตราเวลาต่างจากโลกเล็กน้อยมาก เพราะอยู่ห่างหลุมดำออกมามากแล้ว ในแง่เวลาจึงพอๆกับโลก ไม่มีผลใดๆ) ก็ลงเอยเป็นความขัดสนไม่สามารถกลับโลกได้สะดวกอีกต่อไป ด้วยข้อจำกัดของเชื้อเพลิงและอื่นๆนานาประการ และในเมื่ออะไรจะเกิดก็ต้องเกิด คูปเองก็ประเมินแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้ตอนนี้ก็คือ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย!-เสียสละ ก็ด้วยยังมีปริศนาท้าทายขั้นสุดท้าย อันอาจเป็นทางเดียวที่จะช่วยคนบนโลกได้ นั้นคือ เข้าสู่หลุมดำ! ... และเมื่อครั้นเข้าหลุมสู่ดำไปแล้ว กลับเหนือคาดกลายเป็น ห้องจำลองภาวะมิติที่สูงกว่า 4 มิติปกติ หรือ "Tesseract" (หรือห้องจำลอง 5 มิติ) อันคูปได้สิทธิ์ย้อนไปติดต่อกับลูกในอดีต!ผ่านห้องและชั้นหนังสือของเมิร์ฟ จึงทำการส่งรหัสสัญญาณบอก เมิร์ฟ ในวัยเยาว์ ที่เป็นอดีตนั้น (ย้อนไปที่ในข้อ 3.) ก็เพียงเพื่อให้เมิร์ฟห้ามตัวเองไว้ อย่าจากบ้านเป็นอันขาด(เหมือนที่เคยห้ามมาก่อน) แต่กระนั้นเหตุการณ์ก็ยังดำเนินต่อไปคงเดิม และตัวคูปเองในมิติอดีต ก็ติดสินใจจากลูกไปอยู่ดี คูปจึงต้องหาทางออกสุดท้ายนั้นคือ ไขปริศนาสมการตัวแปร! กู้โลก(แปลน A) ที่ยังเป็นปริศนาแก้ไม่ตก เพื่อส่งต่อให้ เมิร์ฟ ( * อันเป็นสมการในท้องเรื่อง ดร. แบรนด์ที่โลก พยายามแก้แต่แก้ไม่สำเร็จจนวันตาย) ... และแล้วเมิร์ฟก็แก้สมการกู้โลกสำเร็จ! ทั้งได้ข้อสรุปว่า ทั้งหมดทั้งปวงเป็นความพยายามช่วยเหลือมนุษยชาติ จากมนุษย์ในมิติที่สูงกว่าทั้งสิ้น ไม่ว่าตั้งแต่กรณีสร้างรูหนอนไว้ให้ โดยวางเส้นทางไปที่ดาวใกล้หลุมดำ เพื่อใช้หลุมดำ เป็นตัวกลางสื่อสารสู่โลกมิติคู่ขนานในปัจจุบันอีกที ก็กลายเป็นอีกภาวะภพซ้อนภพทางฟิสิกส์อันยอกย้อนที่หนังเล่นได้อย่างเมามันส์ (หลายคนอาจมึนงงกับลูกเล่นความยอกย้อนของหนังในจุดนี้ กลายเป็นต้องกลับดูอีกรอบสองรอบ ถึงจะค่อยกระจ่างขึ้น ฮึๆ) ... ก็เป็นว่าลงเอยด้วย Happy Ending มนุษย์ชาติรอดหวุดหวิด! (* กรณีมนุษย์จากมิติอื่นนี้ จะขยายเพิ่มเติมพิเศษด้านล่างต่อไปเช่นกัน รวมกับกรณีสัญญาณจากมิติอื่นในข้อ 3. ที่ผ่านมา เพราะถือเป็นปมหัวใจหลักของเรื่องราวทั้งหมด)



" ความรักไง TARS เหมือนที่แบรนด์พูดน่ะ สิ่งที่เชื่อมฉันกับเมิร์ฟไว้มันมีปริมาณมันคือกุญแจ " - คูเปอร์

5. - สรุป /ความรัก VS เหตุผล : ทบทวนเสริมแก่นหลักฟิสิกส์ดาราศาสตร์กรณี Spacetime เบื้องต้นอีกครั้ง ... 3 มิติ ก็คือพื้นที่สภาวะแวดล้อม แบบกว้างxยาวxสูง คือภาวะปกติของการดำรงชีวิตของมนุษย์เรานี้แหละ, ส่วน "เวลา" ถือเป็นมิติที่ 4 เมื่อรวมกันก็เรียกว่า กาลอวกาศ หรือ Spacetime (*และในเชิงหลักฟิสิกส์ควอนตัม ก็มีมิติอื่นๆที่สูงกว่า 4 มิติ อีกมากมาย แต่หลักฟิสิกส์ปัจจุบันก็ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับกรณีมิติที่สูงกว่าต่างๆไม่มากนัก และยังเกินกว่าองค์ความรู้มนุษย์จะรับรู้เข้าใจได้ทั่วถึง! ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป) ... ส่วนกรณี "ความรัก" ในหนังก็ถือว่าคือตัวแปรอันเป็นแก่นหลักในการคลี่คลายเรื่องราวทั้งปวงเลย (และในเชิงศิลปะความเป็นหนังแล้ว จะจัดให้ ความรัก เป็นมิติที่ 5 ก็พอได้) ...

สรุปได้ว่า Interstellar เป็นหนัง Hard Sci-Fi ที่อ้างอิง+ซื่อสัตย์ต่อหลักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จริงๆอย่างมากทีเดียว (*ก็ด้วยมีที่ปรึกษาเป็นนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชั้นนำรุ่นเก๋าอย่าง " kip Thorne" ) ไม่ว่ากรณี Spacetime, รูปลักษณ์ของ รูหนอน, หลุมดำ, หรือแม้แต่กรณีปลีกย่อยทั่วไป อย่างบางฉากในอวกาศอุตส่าห์ไม่ยอมใส่ Sound เพื่อสื่อว่าในอวกาศไม่มีเสียง, แต่กระนั้นถึงซื่อตรงต่อหลักวิทย์จริงเพียงใด ก็ยังไว้ลายมีลูกเล่นไอเดียไซ-ไฟเหนือจริงได้ล้ำลึก อาทิ กับกรณีหุ่น A.I. รูปแบบแปลกประหลาดอย่าง TARS, และโดยเฉพาะกรณีการค้นหาปริศนาสมการควอนตัมในห้อง Tesseract ภายในหลุมดำ อันสอดคล้องเชื่อมโยงกับเนื้อเรื่องในแบบโลกมิติคู่ขนาน-วนลูปแบบภพซ้อนภพ/เวลาซ้อนเวลา! ได้อย่างฉลาดหลักแหลมลงตัว ...

... และที่น่าสนใจมากอีกอย่างในส่วนของลูกเล่นเนื้อหาก็คือ นัยยะสะท้อนบุคลิกวิธีคิดตรรกะของตัวละครต่างๆ จะพบว่าเป็นการเล่นสลับไป-มา ระหว่าง ความรัก VS เหตุผล ได้อย่างน่าชื่นชม ... คูเปอร์จากโลกไปเพราะการคิดด้วยเหตุผลแล้วว่าเป็นความจำเป็นจริงๆ ขณะที่เมิร์ฟอยากให้พ่ออยู่เพราะความรัก เมื่อคูเปอร์ไปถึงที่หมายกลับเลือกใช้ความรักลูกรักครอบครัวเป็นที่ตั้งในการตัดสินใจต่างๆ ในขณะที่คนอื่นใช้เหตุผลในการตัดสินใจเป็นหลัก อาทิ "เอมิเลีย" ในตอนแรกด้วยความเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ใช้เหตุผลในการตัดสินใจที่จะไปดาวมิลเลอร์ ก่อนดาวที่เหลืออีก 2 ดวง และผลคือคิดผิด! ต่อมาเธอจึงคิดเลือกที่จะใช้ความรักนำพาการตัดสินใจด้วยหมายจะไปหา "เอ็ดมันด์" นักบินอวกาศคนรักที่อยู่อีกดาว ที่เรียกว่า ดาวEdmund (อันท้องเรื่องต่อมาจะเป็นดาวความหวังสุดท้าย) แทนที่จะไปดาวน้ำแข็งของ ดร.แมนน์ แต่ก็เผอิญดันถูกคูเปอร์โต้แย้งด้วยการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์/ความน่าจะเป็น ที่ดาวน้ำแข็ง มีโอกาสประสบผลสำเร็จมากกว่าดาวเอ็ดมันด์ (ด้วยเหตุผลว่า ดาวน้ำแข็งอยู่ใกล้กว่า และมีสัญญานส่งมา ในขณะที่ดาวเอ็ดมันด์ทั้งไกลกว่าและไม่มีส่งสัญญาณใดๆ) เอมิเลีย จึงจำยอมในเหตุผลของคูป แต่แล้วผลออกมาผิดคาดอีก! ด้วยกรณี ดร.แมนน์ บนดาวน้ำแข็งนั้น ได้ใช้สัญชาตญาณขับดันตัวเองด้วยเหตุและผลชนิดไร้หัวใจ! (จนเกิดเป็นบทโหดบู๊ล้างพวกเดียวกันเอง) และต่อมาคูเปอร์ก็กลับเลือกที่จะใช้ความรักนำทางเป็นแรงผลักให้ตัวเองอีกครั้งนั้นคือการตัดสินใจจะกลับโลก แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาใช้เหตุผลตัดสิน ส่งผลเปลี่ยนใจเข้าสู่หลุมดำแทนกลับโลกในที่สุด



เมื่อประเมินจากภาพรวมทั้งหมดทั้งปวงแล้ว ทั้งพล็อต/ลูกเล่นไอเดียไซ-ไฟ/ฉากสวยงาม ฯลฯ สรุปได้ว่า Interstellar ได้กลายเป็นหนังที่ดีที่สุดของปี 2014 นี้ และจัดเป็นอีกหนัง Hard Sci-Fi อวกาศขึ้นหึ้งล่าสุดอย่างไม่ต้องสงสัย ก็เรียกว่าสมกับการรอคอยของแฟนๆคอไซ-ไฟ และก็สมศักดิ์ศรีผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน (+ก็ต้องให้เครดิตทีมสร้างแผนกต่างๆด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะมันสมองคนเขียนบท น้องชายแท้ๆ "โจนาธาน โนแลน" และนักฟิสิกส์ชั้นนำอย่าง "Kip Thorne") ... และส่วนตัวขอตัดสินให้เรตคะแนนสำหรับหนังเรื่องนี้ = 9.5!/10 ... +ขอจัดให้เป็นสุดยอดหนัง Hard Sci-Fi อวกาศ ที่ดีที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา! ณ ขณะนี้ (*แซงเรื่อง 2001: A Space Odyssey (1968) และ Contact (1997) แค่เสี้ยวคะแนน :) ... [* ส่วน 0.5 ที่ตัดไป หายไปไหน ? ก็คือ ความผิดฐานทำให้คนดูทั่วไปที่ไม่ใช่คอไซ-ไฟโดยตรง อันย่อมจะคาใจกับศัพท์วิทย์เฉพาะทางมากมายที่บรรจุในหนัง จนอาจทำเสียอรรถรสไปบ้าง (*แต่จริงข้ามๆไปบ้างได้ +ศัพท์หลักๆ บทสนทนาในหนังเองก็มีอธิบายอยู่แล้วบ้างว่าอะไรคือะไร เพียงแต่แค่สั้นๆ) และก็ตัดคะแนนอีกนิดหน่อยกับกรณีตอนท้ายๆอันเป็นตอนจบที่ดูเหมือนรวบรัดเกินไป แต่กระนั้น ถ้าเป็นคอไซ-ไฟที่เข้าใจคุ้นเคยกับหลักฟิสิกส์ดาราศาสตร์และลูกเล่นความเป็นหนังไซ-ไฟที่มักทิ้งปริศนาตอนท้ายอยู่บ้างแล้ว จะให้คะแนน 10/10 ไปเลย ก็ไม่ถือเว่อร์เกินไป :) ]



+แทรก : "คูเปอร์" ตัวจริงๆ! :)

- กอร์ดอน คูเปอร์ (Gordon Cooper) คือ นักบินอวกาศเที่ยวบินสุดท้ายในโครงการอวกาศที่เกิดขึ้นจริงๆ โครงการ "เมอร์คิวรี" ในวันที่ 15 พ.ค. 1963 ... ภารกิจในครั้งนั้น ทำให้เขาเป็นนักบินคนสุดท้ายที่โคจรรอบโลกตามลำพัง และยังเป็นคนแรกที่ได้นอนหลับระหว่างการเดินทางในอวกาศ ... โดยโคจรรอบโลก 22 รอบ ภายใน 34 ชม. 20 นาที ... ( * เหตุการณ์ เกี่ยวกับโครงการเมอร์คิวรี ถูกดัดแปลงเขียนเป็นนวนิยาย(เสียดสี!) +และได้สร้างเป็นหนังชื่อเดียวกันคือ --- The Right Stuff (1983) --- อันเป็นอีกหนังอิงประวัติศาสตร์จริงวงการอวกาศ และเป็นหนังแรงบันดาลใจต่อ Interstellar 2014 ของ ผกก. โนแลน นั่นเอง และเป็นที่มาของชื่อพระเอก Cooper ... สกู๊ปบทความ รีวิว+สังเขปเนื้อเรื่อง The Right Stuff และหนังอื่นๆอันเป็นแรงบันดาลใจให้ Interstellar คลิกที่นี่ )

- ในการโคจรรอบโลก 22 รอบข้างต้นนั้น รอบที่ 22 อันเป็นรอบสุดท้าย ขณะยานอยู่เหนือออสเตรเลีย คูเปอร์ อ้างว่า เขาเห็น UFO! ... และยังอ้างว่าในอดีตก่อนหน้านั้น ปี 1951 เขาก็เคยเห็นมาแล้วครั้งหนึ่งด้วย ขณะที่เขาขับเครื่องบิน F-86 อยู่เหนือประเทศเยอรมัน (และก็ยังมีเคยเห็นครั้งอื่นๆอีก) ... Cooper กล่าวต่อกรณี UFO ทำนองว่านักบินอวกาศหลายคนก็คงเคยเห็น แต่มันเป็นเรื่องที่ลำบากใจที่จะคุย / " Most astronauts were reluctant to discuss UFOs."

- เพื่อนนักบินอวกาศของเขาเล่าว่า เมื่อใครถามคูเปอร์ว่า ใครเป็นนักบินอวกาศที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เขาเคยพบมา ? ... คูเปอร์ ก็มักจะชอบตอบกลับอย่างขบขันว่า ... "ก็คุณกำลังมองเขาอยู่นี่ไง" (คำพูดนี้ถูกนำไปใช่เล่นมุขในหนัง The Right Stuff (1983) ด้วยเช่นกัน)

- Cooper เสียชีวิต 4 ต.ค. 2004 ณ บ้านเกิดในเมืองเวนทูรา/อเมริกา ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว อายุ 77 ปี

* คลิปซ้าย คูเปอร์ ตัวจริงเป็นๆ พูดถึง UFO ! / ขวานักแสดงคูเปอร์ ในเที่ยวบินสุดท้ายโครงการ "เมอร์คิวรี" 15 พ.ค. 1963 ใน The Right Stuff (1983)


+เสริม: วิเคราะห์ : กรณีลำดับ " สัญญาณรหัสต่างๆ และสมการกู้โลก "

สัญญาณรหัสและสมการ ที่ "คูเปอร์" ส่งให้แด่ "เมิร์ฟ" ในท้องเรื่องนั้น หลักๆมีส่งอะไรบ้าง? และเพื่ออะไร? หมายถึงอะไร ? ... ด้วยส่วนตัวคิดว่าประเด็นนี้ถือเป็นแก่นหลักอันเชื่อมโยงโครงเรื่องทั้งหมดเลยก็ว่าได้ เลยขอยกมาเสริมขยายความแยกต่างหากเป็นกรณีพิเศษ ... และที่จะสาธยายทั้งหมดต่อนี้ก็เป็นการตีความโดยความเห็นส่วนตัวเท่านั้นด้วยเช่นกัน

- "คูเปอร์" มอบนาฬิกาให้ "เมิร์ฟ" กลายเป็นอุปกรณ์สื่อกลางสำหรับ แก้สมการควอนตัม กู้โลก! -

เอาละ ก่อนอื่นก็ขอกำหนดเบื้องต้น กรณี คูเปอร์ เพื่อจะได้อธิบายความได้ง่ายขึ้น โดยขอแยกเป็น "คูเปอร์ (คนปัจจุบัน)" กับ คูเปอร์ตอนหลังที่เข้าหลุมดำไปแล้วอันจะกลายเป็น "คูเปอร์ (จากอนาคต)" ... ส่งสัญญาณกลับมาให้เมิร์ฟ ... ซึ่งจริงๆก็คือคนคนเดียวกันนั้นแหละ แต่คนละมิติเวลาที่ซ้อนกัน!? เหตุการณ์เกิดขึ้นไปตามลำดับดังนี้ (ลองค่อยๆนึกฉากต่างๆในหนัง+ทดในใจตาม)

1. ...ท้องเรื่องเริ่มแรกสุด เริ่มต้นที่ คูป(จากอนาคต) ได้ส่ง รหัสมอร์ส โดยทำให้หนังสือ(ในห้องเมิร์ฟ)หล่นทีละชุดๆ อย่างมีแบบแผน เมื่อเมิร์ฟเห็น+สงสัยแล้วก็จะนำไปถอดรหัสต่อไป ... เมิร์ฟเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า อาจเป็น "ผี" เพราะเริ่มแรกยังไม่รู้มาก่อนว่าคนส่งคือ คูป และเมิร์ฟก็ถอดความเป็นได้เอง = คำ STAY ... อันนี้เพื่อบอกเป็นนัยสำหรับไว้ใช้ห้าม คูป(ปัจจุบัน) ในภายหลัง เพื่อรั้งคูปให้อยู่บ้าน ไม่ไปอวกาศ (อันเกิดจากผลในข้อ. 2 ถัดไป)

2. ...คูป(จากอนาคต) ส่งอีกสัญญาณ คราวนี้เป็นค่าไบนารี่ (เกิดจากแรงโน้มถ่วงแปรปรวนอย่างมีแบบแผนในห้องเมิร์ฟ) คูป(คนปัจจุบัน)รับรู้ชัดเจนว่า ผี ที่เมิร์ฟเล่าให้ฟังมันมีจริงๆ และก็เป็นคนตีความค่าไบนารี่นั้นด้วยตัวเอง ออกมาได้ว่าเป็นพิกัดสถานที่ลับแห่งหนึ่ง อันจะนำพา คูป(ปัจจุบัน)และเมิร์ฟ(แอบขึ้นรถไปด้วย) ไปสู่พื้นที่ลับนั้นคือ NASA และส่งผลให้คูปตัดสินใจไปอวกาศในที่สุด ... เมื่อย้อนกลับไปที่กรณี ข้อ 1. เมิร์ฟเชื่อในรหัส STAY และลึกๆก็ไม่อยากให้พ่อต้องจากไปด้วยอยู่แล้ว แต่สุดท้ายห้ามยังไงก็ห้ามไม่ได้ถึงจะเผยรหัส STAY ให้คูปฟังแล้วก็ตาม (เพราะคูปก็คงคิดว่า รหัส STAY ที่เมิร์ฟตีความนั้น เป็นข้ออ้างไม่อยากให้พ่อจากไปตามประสาเด็กๆ) ... และแล้วคูปก็จากไป พร้อมทิ้งนาฬิกาไว้ให้เมิร์ฟดูต่างหน้า

* นัยยะสำคัญอีกส่วนหนึ่งของ พิกัด NASA ในข้อ. 2 นี้ ก็คือ ... จะเป็นการช่วยให้เมิร์ฟได้มีความเชื่อมโยงกับ NASA ในฐานะศิษย์ของ ดร. แบรนด์ เพื่อจะได้เรียนทฤษฎีฟิสิกส์+สมการต่างๆ จนโตเป็นผู้ใหญ่และทำงานใน NASA นั้นต่อไป อันจะทำให้เมิร์ฟมีฐานองค์ความรู้พอที่จะตีความสมการ ที่คูป(จากอนาคต) จะได้ส่งรหัสคำตอบมาให้ต่อไปอีกรอบ (ในข้อ. 3) ... (*ซึ่งถ้าเมิร์ฟไม่แอบขึ้นรถไป NASA ทุกอย่างก็อาจจะพลาดหมด! เพราะจะไม่ใครแก้สมการได้ หรือถึงมีคนอื่นแก้ได้ ก็จะไม่มีใครรับสัญญาณจากคูปได้ดีกว่าเมิร์ฟ เพราะการส่งต้องอาศัยตัวแปรสำคัญอีกอย่างที่ขาดไม่ได้นั้นคือ ความรัก! เมิร์ฟจึงเป็นตัวเชื่อมที่ดีที่สุด)

3. ...และเมื่อเมิร์ฟโตเป็นผู้ใหญ่ กับคูป(ปัจจุบัน) ที่ตัดสินไปอวกาศ+ได้เข้าสู่หลุมดำในที่สุดเรียบร้อยแล้วนั้น ... คูป(ปัจจุบัน)ในห้อง Tesseract ในหลุมดำ ณ ตอนนี้ = ว่าได้แปรสภาพกลายเป็น คูป(จากอนาคต) ทั้งได้ย้อนกลับไปทำการรหัสส่งสัญญาณทุกอย่างตั้งแต่ในข้อ 1. ตามลำดับ (กลายเป็น ผี ของเมิร์ฟ) ... และปิดฉากด้วยการส่งคำตอบสมการควอนตัมตัวแปรสุดท้าย อันเป็นปริศนาที่ ดร.แบรนด์ และเมิร์ฟเองแก้ไม่ได้นั้นมาช้านาน (ด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับควอนตัมยังมีไม่มากพอ จึงแก้ไม่ตก) ... โดยคูปส่งมาเป็นสัญญาณแรงโน้มถ่วงในรูปแบบของการทำให้เข็มของนาฬิกาที่เคยให้ไว้กับเมิร์ฟ(เมื่อครั้งตอนเด็ก (ในข้อ 2.) นั้น เกิดกระดิกเป็นรหัสมอร์ส แสดงเป็นสมการควอนตันอันเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับใช้แก้ปัญหาย้ายคนออกนอกโลกต่อไป และแล้วเมิร์ฟผู้ใหญ่ก็แก้สมการได้สำเร็จ +อพยพคนในโลกไปอยู่สถานีโคโลนีรอบดาวเสาร์ได้ในที่สุด ตามที่ปรากฏในหนังตอนท้ายนั้นเอง

- ชีวิตมนุษยชาติ ละทิ้งโลก ไปอยู่บ้านใหม่ โคโลนีในห้วงอวกาศ นอกโลก! -

* แล้ว สมการ สุดท้ายที่กู้โลกได้นี้ มันคือ อะไร? อย่างไร? ... ก็ต้องบอกว่าไม่มีใครรู้! (คนที่รู้คงมีแค่ คูเปอร์, เมิร์ฟ และ โนแลน หรือ คิปป์ :) ...แต่คิดว่า โนแลน หรือ คิปป์ เองก็คงไม่รู้เหมือนกันเพราะมันเป็นเพียงลูกเล่นปริศนาตามประสาหนังไซ-ไฟ ทิ้งไว้เป็นปริศนาให้แฟนได้คาใจจินตนาการต่อเอง ... แต่ก็เชื่อว่า สมการควอนตัมกู้โลกนี้ น่าจะเป็นสมการอันเกี่ยวกับ "แรงโน้มถ่วงควอนตัม" ซึ่งในความเป็นจริงแล้ววงการฟิสิกส์ปัจจุบันเอง ก็ยังมีความเข้าใจกับมันน้อยมากเช่นกัน เรียกว่ารู้บ้างแต่ยังไม่สมบูรณ์ที่ถึงขั้นใช้การใดๆได้ ในหนังจึงเล่นว่าเป็น สมการควอนต้ม ที่คนในมิติที่สูงกว่าและเข้าใจมันอย่างสมบูรณ์แล้วนั้น ส่งมาช่วย ผ่านทางคูปเป็นตัวเชื่อม แทนที่มนุษย์ธรรมดาอย่าง ดร.แบรนด์ หรือ เมิร์ฟ จะแก้สมการได้ด้วยตัวเองล้วน (*เกี่ยวกับ แรงโน้มถ่วงควอนตัม ไว้ดูเสริมเพิ่มเติม ในอภิธานศัพท์วิทยาศาสตร์ ด้านล่างๆสุดอีก)

* สังเกต กรณีการส่ง รหัส+คำตอบสมการ ล้วนผ่านชั้นหนังสือในห้องเมิร์ฟเป็นหลัก ... พิจารณาดีๆก็เป็นอีกลูกเล่นที่สะท้อนนัยยะของหนังได้น่าสนใจมาก ... ด้วยหนังสือคือสัญลักษณ์ของแหล่งความรู้ภูมิปัญญา เมื่อมีปัญหาก็ไปต้องกลับไปห้องหนังสือแสวงหาความรู้เพื่อทราบคำตอบ-ไขปัญหาต่อไป และมีเมื่อได้ความรู้อันเป็นข้อมูลดิบมาแล้วก็อาจต้องมีการคิดวิเคราะห์จินตนาการต่อยอดด้วย เพราะแค่ลำพังมีความรู้ข้อมูลล้วนๆอาจไม่พอ อาทิกรณี คำ STAY ที่เมิร์ฟต้องอาศัยการจินตนาการตีความ+เชื่อมโยงด้วยว่ารหัส คืออะไร-น่าจะสื่อถืงอะไร... ทำให้นึกถึงอีกวาทะคมๆของไอน์สไตน์นั้นคือ "จินตนาการ สำคัญกว่าความรู้" :)

4. ...แล้วเรื่องราวก็ลงเอยตรงมนุษย์ชาติบนโลกรอด ทิ้งโลกไว้เบื้องหลังและย้ายกันไปอยู่ที่สถานีโคโลนีในห้วงอวกาศบริเวณดาวเสาร์ ในขณะที่ ณ ดาวเอ็ดมันด์ ดาวความหวังดวงสุดท้ายที่เอมิเลียแยกทางไปจากคูป (ตอนคูปตัดสินใจลงสู่หลุมดำนั้น) ก็เผยในหนังว่าเป็นดาวที่มีสภาพแวดล้อมโดยรวมเหมาะสมที่มนุษย์จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยต่อไปได้ และเอมิเลียก็จัดการตั้งค่ายสำเร็จ แล้วก็เข้านอนในไฮเปอร์สลีฟ ด้วยความหวังว่าคงจะมีมนุษย์ที่รอดมาสมทบกับเธอ และทำการเพาะพันธุ์ตัวอ่อนมนุษย์ที่นำติดไปในยานแต่แรกแล้วนั้น ได้แพร่เผ่าพันธุ์บนดาวเอ็ดมันด์นั้นต่อไป ...ณ จุดนี้ จึงพอคาดเดาได้ว่ามนุษย์ทั้งสองพวก (พวกที่มาจากโคโลนี และพวกที่จะเพาะพันธุ์เกิดเติบโตบนดาวเอ็ดมันนั้น) ต่อไปก็จะรวมกัน พัฒนา-วิวัฒน์กลายเป็น "พวกเขา! มนุษย์ที่มีมิติที่สูงกว่าในอนาคต" (มิติที่ 4-5 6 7 ... ?) ตามท้องเรื่องต่อไป

- ส่วนหน้าตามนุษย์มิติที่สูงกว่าในอนาคตนั้นรูปลักษณ์จะเป็นอย่างไร เป็นรูปลักษณ์โฮโม เซเปียนส์แบบเราๆทุกวันนี้หรือไม่ ด้วยหนังไม่เผยฉากใดๆ จึงเป็นปริศนาไม่มีใครทราบได้ (แต่ไม่น่าจะเหมือน มั้ง? เพราะเป็นสิ่งมีชีวิตที่วิวัฒน์ที่สูงกว่า 4 มิติไปแล้ว เป็นสิ่งมีชีวิต 5 มิติ+) แต่สุดท้ายแล้วเรื่องราวทั้งหมดก็จะลูป มนุษย์พันธุ์ใหม่ในอนาคตนั้น จะกลับมาช่วยสร้างรูหนอนลับๆ สำหรับช่วยมนุษย์โลกคู่ขนานในอดีตต่อไป +เกิดกรณี คูป ส่งสัญญาณให้ เมิร์ฟ กลายเป็นเรื่องราวโลกคู่ขนานต่างๆ ที่จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่สิ้นสุด! โดยไม่ว่ายังไงก็จะต้องลงเอยที่ เมิร์ฟ แก้สมการกู้โลกสำเร็จ เพื่อมนุษยชาติรอด ... เพราะถ้าหากแก้สมการไม่ได้จะเกิด Paradox และเกิด Timeline แบบใหม่ทันที นั้นคือจะลงเอยที่มนุษย์อาจต้องสูญพันธุ์ ซึ่งก็จะย้อนไปส่งผล เป็นไม่มีการสืบทอดเผ่าพันธุ์มนุษย์ ที่จะพัฒนาเกิดเป็นมนุษย์ในอนาคตที่พัฒนาเป็นมิติที่สูงกว่าได้ และก็ไม่สามาราถวนลูปซ้ำเรื่องราวเดิมต่อไปได้ ด้วยไม่มี คูเปอร์(จากอนาคต) ... (และก็จะไม่มีเรื่องราวแบบที่เป็นใน Interstellar ให้ได้ชมกัน :)

+ข้อสังเกตเสริม ตอนที่ คูป(ปัจจุบัน)เข้าสู่หลุมดำ ให้ห้องมิติ หรือห้อง Tesseract แล้วนั้น คูป สามารถย้อนเวลาแบบ ไม่จำเป็นต้องเรียงย้อน 1-2-3... แต่จะเข้าไปดูเหตุการณ์ช่วงเวลา(ในห้องเมิร์ฟ)ส่วนไหนก่อนก็ได้ (ทั้งเห็นมุมห้องแบบใดก็ได้ ซ้ายขวาบนล่าง) อันเป็นผลจากการภาวะมิติที่สูงกว่า 3 มิติปกติของห้อง Tesseract นั้นเอง ... ข้อพิสูจน์อีกอย่างสำหรับกรณีนี้ ในท้องเรื่องก็คือ ฉาก คูป ตะโกนผ่านชั้นหนังสือว่า "อย่าไปนะไอ้โง่" ทั้งที่ส่ง STAY ไปก่อนแล้ว แต่เมิร์ฟก็ห้ามไม่สำเร็จ ก็ร้อนรนจะส่งคำตอบสมการควอนตัมให้เมิร์ฟที่ยังเด็กอยู่นั้นเสียเลยทันที แต่หุ่น TARS ก็ดักคอว่า ส่งไปให้เมิร์ฟที่ยังเด็กแล้ว เด็กจะรู้เรื่องหรือ ... คูป จึงต้องย้อนเวลากลับที่การส่งโค้ดรหัสไบนารี่ด้วยแรงโน้มถ่วง(ข้อ 3.)แทน เพื่อเป็นเหตุให้เมิร์ฟ(ได้แอบในรถ)ได้ไป NASA ด้วยกัน ... และข้อสังเกตน่าสนใจเป็นพิเศษอีกอย่างเมื่อออกจากห้อง Tesseract (ที่ในท้องเรื่องบอกคนในอนาคตจะปิด Bulk !?) ยังได้ย้อนเวลานำพาให้ คูป ไปแตะมือกับ เอมิเลีย ช่องที่เข้ารูหนอนอีกต่างหาก!

- ฉากต้นๆเรื่องเมื่อ เอมิเลีย แตะมือกับบางอย่างตอนเข้ารูหนอนที่เรียกว่า "การทักทายแรก" แท้จริงคือการแตะมือกับคูเปอร์ -



+เพิ่มเติม : กรณี They : "พวกเขา" สิ่งทรงภูมิมิติที่สูงกว่า ผู้ลึกลับ? ผู้ยื่นมือเข้ามาช่วยกู้โลกในท้องเรื่อง เขาคือใครมากจากไหน ? - น่าจะมีรูปแบบชีวิต/หน้าตาอย่างไร ? - แล้วทำไมต้องช่วย ?
... (เบื้องต้นก็มีหลายคนตีความว่าอาจไม่ใช่มนุษย์หรอก แต่อาจเป็นพวกเอลี่ยน หรือกระทั้งสิ่งลี้ลับอย่างอื่นต่างหาก หรือกระทั้ง พระเจ้า! ต่างหาก) ลองพิจารณาบทสนทนานี้ ...

คูป: " นายไม่เข้าใจเหรอ TARS นั่นไม่ใช่คนอื่นแต่เป็น เรา! สิ่งที่ฉันทำเพื่อเมิร์ฟ พวกเขากำลังทำเพื่อฉัน และเพื่อเราทุกคน "

หุ่น TARS: " คูเปอร์ มนุษย์สร้างสิ่งนี้ไม่ได้ "

คูป: " ใช่ตอนนี้ไม่ได้ แต่สักวัน ไม่ใช่นายหรือฉัน แต่คือผู้คนที่มีอารยธรรมวิวัฒนาการมากกว่า 4 มิติ ! "

แน่นอนว่าประเด็นนี้หนังทิ้งเป็นปริศนาเปิดกว้างมากพอควร แต่ถ้าจะให้ส่วนตัววิเคราะห์แกะร่องรอย+จินตนาการต่อจากเท่าที่มีหลักฐานในหนังแล้ว สิ่งที่น่าจะเกี่ยวโยงกับ พวกเขาผู้ลึกลับนี้ มากสุด ก็ทำนึกถึงคำหนึ่งนั้นคือ "เอกภาวะ"

ด้วย เอกภาวะ หรือ Singularity ... คำนี้นัยยะหนึ่ง ใช้หมายถึง ศูนย์กลางของหลุมดำ ที่กล่าวในหนังโดยตรง ตามหลักฟิสิกส์ก็คือ จุดที่มวลสารอัดแน่นจนมีขนาดเล็กเป็นอนันต์! และมีแรงโน้มถ่วงสูงเป็นอนันต์! ... แต่อีกนัยยะของคำ Singularity นี้ นอกจากรณีหลุมดำโดยตรงแล้วยังถูกใช้ในกรณี "เอกภาวะทางเทคโนโลยี" ด้วย นั้นคือ สมมุติภาพในอนาคตที่อัตราของความก้าวหน้าของเทคโนโลยีล้ำมากเข้าใกล้อนันต์ เกิดมีระบบคอมพิวเตอร์อัฉริยะที่เรียกอีกศัพท์ว่า "ปัญญาประดิษฐ์ (A.I.)" ได้มีการเชื่อมสมองของมนุษย์(หรือกระทั้งวิญญาณของมนุษย์!?)เข้ากับคอมพิวเตอร์อัจฉริยะนั้นด้วย (Brain-Computer Interfaces) ส่งผลให้เกิดภาวะชีวิตพันธุ์ใหมที่่ฉลาดล้ำเหนือมนุษย์ตามธรรมชาติปกติจะเข้าใจได้อีกต่อไป ... ถ้ามอง Interstellar 2014 จากแง่นี้ มนุษย์มิติที่สูงกว่าในอนาคตนั้น ก็น่าจะเริ่มต้นจากการประสานกันระหว่าง มนุษย์ + A.I. (อย่างTARS) + ภูมิปัญญาใหม่ จากสมการควอนตัมกู้โลกในตอนท้ายเรื่องสมทบด้วย ทั้งในอนาคตก็มีต่อยอดพัฒนาต่อๆไปอีกกลายเป็น = "มนุษย์อนาคตพันธุ์ใหม่" ล้ำเลิศเหนือจินตนาการเกิน 4 มิติ (หาใช่เป็นเอเลี่ยน หรือสิ่งลี้ลับอื่นใด) ... ซึ่งหากจะนึกภาพเล่นๆว่า แล้วรูปแบบชีวิตมนุษย์อนาคตเริ่มแรกน่าจะมีลักษณะอย่างไรล่ะ ? ก็คิดว่าคงจะมีภาวะคล้ายๆกับทำนองที่เป็นในไซ-ไฟก่อนหน้านี้นั้นคือในเรื่อง Transcendence (2014) ซึ่ง ผู้กำกับเรื่องนี้ก็คือ "Wally Pfister" อันเขาไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เดิมก็คือ ผู้กำกับภาพ ให้หนัง The Dark Knight และ Inception ของผู้กำกับ โนแลน Interstellar 2014 ล่าสุดนี้นั้นเอง ... (* เกี่ยวกับเรื่องราวของ Transcendence ไว้แวะไปเสริมอีกทีที่ บทความนี้ )

"พวกเขา! พวกชีวิตทรงภูมิ 5 มิติ! กับพวกเขา เวลา อาจเป็นมิติกายภาพ กับพวกเขา อดีตอาจเป็นหน้าผาที่เขาปีนได้ และอนาคตเป็นเหมือนภูเขาที่ปีนขึ้นไปได้" --- เอมิเลีย แบรนด์

- แล้วทำไมต้องช่วย ? ... เหตุผลหลักเท่าที่ส่วนตัวมอง มนุษย์มิติที่สูงกว่าในอนาคต คงไม่อยากให้โลกคู่ขนานโลกใดโลกหนึ่ง ไม่มีพวกตนมีบทบาทอยู่ด้วย! กระมัง ? จึงจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาช่วย ทั้งที่จริงๆไม่ช่วยก็ได้ ? ก็ปล่อยให้เกิด Paradox ไป ซึ่งก็น่าจะไม่ได้ส่งผลอะไรกับตนที่ยังคงดำรงอยู่ปกติต่อไปได้ในมิติที่สูงกว่านั้นๆ หรือเปล่า ? (เพราะโดยหลักการทั่วไปแล้วโลกคู่ขนานย่อมมีมากมาย และก็ไม่จำเป็นต้องมี Timeline เหมือนกันทุกโลกเสมอไป ? ... แต่คิดไปอีกมุมก็ไม่แน่ เพราะจริงๆมนุษย์เรายังมีความรู้เกี่ยวโลกมิติคู่ขนานน้อยมาก บางทีการที่โลกมีคู่ขนานต่างๆมากมาย มันอาจมีกฏของความสัมพันธ์กันด้วยบางอย่างของแต่ละโลกด้วย อาทิ เมื่อโลกคู่ขนานหนึ่งเกิดพลิกผันเป็น Paradox ไป แม้จะเป็นโลกอดีตก็ตาม มันอาจหมายถึงส่งผลต่อโลกคู่ขนานที่เป็นอนาคตอื่นๆให้ต้องได้รับผลบางอย่างด้วย(ในแง่ไม่ส่งผลดีนัก) ? ใช่ว่าต่างคนต่างแยกกันอยู่เสียทีเดียว (หรืออีกแง่ก็ว่า โลกคู่ขนานที่มั่นคงก็ควรมี Timeline เหมือนกันทั้งหมด ? ) ... แต่เหตุผลสำคัญที่สุดอีกแง่มุม ทำไมต้องช่วย ก็ต้องไม่ลืมพิจารณาว่าในแง่สายใยความสัมพันธ์แล้ว บรรพบุรุษของมนุษย์มิติที่สูงกว่าในอนาคตนั้น ก็คือการสืบเชื้อสายมาจากมนุษย์ในปัจจุบันที่รอดในท้องเรื่องนั้นเอง ด้วยเหตุนี้กระมังจึงมีสำนึก "รัก-ผูกพันธ์" ถ้ามีโอกาสช่วยได้ ก็คงต้องช่วยกันอย่างถึงที่สุด คงไม่ยอมปล่อยผ่านเลยให้สูญพันธุ์ไปเป็นอันขาด ? (แม้จะอยู่คนละมิติกันก็ตาม) ... หรือพอสรุปง่ายๆได้ว่า ที่พวกเขาช่วยเรา หาใช่อื่นใด แต่เพราะความรัก ... เป็น "ความรักเหนือมิติกาลเวลา"

เมิร์ฟ: " ไม่มีใครเขาเชื่อหนู แต่หนูรู้พ่อจะกลับมา "

คูป: " ยังไงลูก "

เมิร์ฟ: " เพราะว่าพ่อสัญญากับหนูแล้ว "

คูป: " พ่ออยู่นี้แล้วเมิร์ฟ "

- ฉากปิดท้ายอันสุดซาบซึ้ง ความรักเหนือมิติกาลเวลา ... จากปรากฏการณ์ Time Dilation : เมื่อกลับมาเจอกันอีกครั้งจึงกลับตาลปัตร ลูกในวัยที่แก่ชรากว่าพ่อ -



+เสริม: นัยยะปรัชญาจาก Interstellar

* เห็นมีบางคนวิจารณ์ Interstellar 2014 ว่านัยยะไซ-ไฟปรัชญามุมมองชีวิต หรือกระทั้งนัยยะสีเทาๆของสังคม-การเมือง มีน้อยไปหน่อย (ถ้าเทียบกับหนังของโนแลนก่อนๆ) ก็อาจจะจริงส่วนหนึ่งเพราะต้องไปเน้นเล่นลูกเล่นฟิสิกส์ดาราศาสตร์ แต่ถ้าพิจารณาดีๆ ในบทสนทนาต่างๆก็มีแง่มุมแฝงนัยยะไม่น้อย อาทิ


- อเมริกาได้เหยียบดวงจันทร์! จริงๆ หรือ แค่ลวงโลก ?


ครู: "มันเป็นหลักสูตรเก่าเราเปลี่ยนให้มันเป็นฉบับแก้ไข"

คูเปอร์: "แก้ไขเหรอ !?"

ครู: "ภารกิจอพอลโลเป็นแผนให้สหภาพโซเวียตล้มละลาย"

คูเปอร์: "คุณไม่เชื่อว่าเราไปดวงจันทร์ !?"

ครู: "ฉันเชื่อว่าเป็นเกมการเมืองหลอกให้โซเวียตทุ่มงบล้มละลายไปกับจรวดและบรรดาเครื่องจักรที่มันสูญเปล่า"

คูเปอร์: "เครื่องจักรที่สูญเปล่า !?"

ครู: "ถ้าเราไม่อยากให้ซ้ำรอยความฟุ่มเฟือยและความสูญเสียใน ศตวรรตที่20 เราต้องสอนลูกหลานให้อยู่กับโลกนี้ไม่ใช่ชักจูงไปที่อื่น"

(* มีข้อมูลยืนยันแล้ว อมริกาได้ไปดวงจันทร์จริงๆ หาได้ลวงโลกแต่ประการใด ก็สบายใจได้กับประเด็นนี้ ...แต่ในหนังเป็นเพียงการเล่นนัยยะ ให้ฉุกคิดอีกมุม และแกมแขวะ)

" That's one small step for man, one giant leap for mankind. / นี่เป็นก้าวเล็กๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ" - Neil Armstrong กล่าว ...เขามนุษย์ที่ได้ชื่อว่าเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์คนแรกของโลก กับภารกิจยาน Apollo 11 เมื่อ ค.ศ. 1969


- สัญชาตญาณ โฉมหน้าที่แท้จริงของมนุษย์ ? / สูญเสียมนุษยธรรม! เพื่อรักษามนุษยชาติ ?

" คุณจะไม่มาที่นี่ ถ้าคุณไม่เชื่อว่าช่วยพวกเขาได้ ... วิวัฒนาการต้องอยู่เหนืออุปสรรคเหล่านั้น แน่นอนว่าเราเห็นแก่ตัวห่วงใยเฉพาะต่อคนที่เรารักคนที่ เรารู้จัก แต่ความรู้สึกนั้นแทบไม่มีต่อคนที่อยู่นอกสายตา ... ดร.แบรนด์ เขาพร้อมที่จะสูญเสียมนุษยธรรม! เพื่อรักษามนุษยชาติ! เขาเสียสละครั้งยิ่งใหญ่จริงๆ ... "

" ... สัญชาตญาณเอาตัวรอดคือพลังบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ของเรา ดูอย่างคุณเป็นตัวอย่างซิ ความเป็นพ่อกับสัญชาตญาณเอาตัวรอดที่เป็นห่วงไปถึงลูก งานวิจัยบอกเราว่า สิ่งสุดท้ายที่เราจะเห็นก่อนตายคืออะไร ลูกคุณไงหน้าของลูก ในวินาทีความตายใจของคุณจะดิ้นอย่างแรงเพื่อความอยู่รอด เพื่อลูกคุณ ..."

" ... รู้สึกแล้วใช่ไหมสัญชาตญาณเอาตัวรอดมันผลักดัน มันผลักดันเราทุกคน เพราะผมอยากจะช่วยเราทุกคนนะ คูเปอร์ "

--- ทั้งหมดข้างต้น ดร.แมนน์ กล่าวเปิดใจกับคูเปอร์ : *ในบริบทท้องเรื่อง ‪‎Interstellar‬ ... ดร.แมนน์ อาจช่วยทุกคนไว้จริงๆ! แม้จะทางอ้อมๆก็ตาม ... ลองพิจารณา หาก ดร.แมนน์ ไม่เล่นแง่หักหลังทีดูเป็นวายร้าย ... คูเปอร์อาจจะได้กลับโลกดังตั้งใจไว้ ... นั้นหมายถึง คูเปอร์จะไม่ได้เข้าหลุมดำ และจะไม่ได้สมการควอนตัมกู้โลก ? ... บางทีหมากเกมนี้อาจเป็นหนึ่งในแผน ที่ ‪เขา‎สิ่งมีชีวิตในมิติที่ 5!‬ ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว ?... เพราะถ้าคูเปอร์ไม่เข้าหลุมดำ ห้องเทสเซอแรค ที่สร้างไว้ให้ ก็สูญเปล่า ? (ถึง ดร.แมนน์ เข้าห้องเทสเซอแรค ได้แต่อาจส่งเชื่อมกับใครที่โลกไม่ได้)


- หุ่นยนต์ ไม่สามารถมี สัญชาตญาณ เท่ามนุษย์ ?
"คุณรู้ไหมว่าทำไมเราไม่ส่งหุ่นยนต์มาคุมภารกิจนี้ หุ่นยนต์แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ดีเท่ามนุษย์ เพราะเราโปรแกรมความกลัวตายไม่ได้ สัญชาตญาณเอาตัวรอดนั้นคือพลังบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา" --- ดร.แมนน์ กล่าว


- เมื่่อโลกเกินเยียวยา สุดท้ายแล้ว หนี! คือทางออก ?

" เราไม่ได้จะช่วยโลกหรอก เราจะไปจากมัน " --- ดร.แบรนด์ กล่าว

" เราลืมได้เหรอว่าเราเป็นใคร เราเป็นนักสำรวจบุกเบิกนะไม่ใช่สัปเหร่อ ... เราเคยเงยหน้ามองฟ้าแล้วสงสัยว่าเราอยู่ที่ไหนในหมู่ดาว เดี๋ยวนี้เรามองลงมาสงสัยว่าเราอยู่ไหนในกองดิน ... เราชาวไร่นั้งอยู่ตรงนี้ทุกปี เมื่อฝนไม่ตกเราก็พูดว่ารอปีหน้า และถ้าปีหน้าพลาดอีกเราก็รอ ปีหน้าต่อจากนั้น โลกนี้หมดคุณค่า มันบอกใบ้ให้เราไปซักพักแล้ว ! " --- คูเปอร์ กล่าว


- NASA(ในหนัง) กลายเป็นองค์กรลับ! ปกปิดไม่ให้คนภายนอกรู้
ทำไมต้องทำอย่างลับๆ...ก็เพราะผู้คนจะไม่ยินยอมให้จัดงบสำรวจอวกาศหรอก ในเมื่อคนเรายังต้องดิ้นรนหาอาหารประทังชีวิตกันเลย
--- ดร.แบรนด์ กล่าว


- "มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่จะทำสิ่งเดิมซ้ำๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง" ---ไอน์สไตน์

ดร.แบรนด์: ชั้นไม่กลัวตายหรอกชั้นเป็นนักฟิสิกส์ แต่ชั้นกลัวเวลา

เมิร์ฟ: เวลา? คุณกลัวเวลา? แต่หลายปีที่เราพยายามแก้สมการโดยไม่เปลี่ยนสมมุติฐานที่เกี่ยวข้องกับเวลา

ดร.แบรนด์: แล้วไง

เมิร์ฟ: แปลว่าทุกชุดคำสั่งคือการพิสูจน์โจทย์เดิม นั้นคือการคำนวณซ้ำซากซึ่งมันเหลวไหล

ดร.แบรนด์: เธอว่าการทำงานทั้งชีวิตของชั้นเหลวไหลเหรอเมิร์ฟ


- สติปัญญาจะมาพร้อมกับวัยที่สูงขึ้น
"สติปัญญาจะมาพร้อมกับวัยที่สูงขึ้น ดีใจที่ได้เจอคุณ" ... "อย่านอนถอนใจอาลัยตายเปล่า ถึงแก่เถ้าเป็นเช่นดังเพลิงร้อนเร้า เผาพลุ่งพลั้งเร่งแซงแข่งตะวัน แม้นเงามัจจุราจเงื่อมมาอย่าได้หวั่น แม้เงาคมเคียวเงื่อมฟันจงอย่าพลั่น จงประจันหันสู้กับความตาย ...เผาพลุ่งพลั้งเร่งแซงแข่งตะวัน" --- ดร.แบรนด์ กล่าว


- เราคงไม่เจอดาวที่ดีเหมือนโลกอีกแล้ว ?

คูเปอร์: "โดดเดี่ยวมากเลย"

แบรนด์: "เรายังมีกันและกัน ดร.แมนน์ แย่กว่าเยอะ"

คูเปอร์: "เปล่าหมายถึงพวกเขาที่โลกน่ะ เป็นดาวสมบูรณ์แบบ เราคงไม่เจอดาวที่ดีเหมือนโลกอีกแล้ว"

แบรนด์: "ใช่ มันไม่เหมือนหาคอนโดอยู่ใหม่นะ เผ่าพันธุ์มนุษย์จะต้องตะลอนไป ตะกายหาหินซักก้อนที่จะเกาะ พยุงลมหายใจ เราต้องหาหินก้อนนั้นต่อไป"


- คนเล่นเรือยอร์ชเก่งๆ ไม่จำเป็นต้องว่ายน้ำได้ !

รอม: "นี่กวนใจฉันคูเปอร์ นี่เห็นไหม อะลูมิเนียมบางๆแค่นั้นแล้วไม่มีอะไรเลย ถ้าเกิดเราหลุดเข้าไปในอวกาศเราตายได้ในทันทีเลย"

คูเปอร์: "คนเล่นเรือยอร์ชบางคนที่เก่งๆหลายคนว่ายน้ำไม่เป็นเลย ถ้าพวกเขาตกจากเรือเขาก็ตาย เราเป็นนักสำรวจรอม นี่คือเรือของเรา"


- ทางเลือก!

คูเปอร์: " ถึงภารกิจที่นี่สำเร็จแต่จะไร้ความหมาย ถ้าคนบนโลกตายหมดแล้ว "

ดร.แบรนด์: " คุณต้องเลือกระหว่างกลับไปเห็นหน้าลูกๆอีกครั้ง กับอนาคตมนุษยชาติ "

คูเปอร์: " เราจะหาทางออก เรามีทางเสมอ"


- เรามาไกลแต่ยังไกลไม่พอ ?

แบรนด์ : เรามาไกลกว่าใครในประวัติศาสตร์มนุษยชาติแล้ว

คูเปอร์ : แต่ยังไกลไม่พอ


- ได้อย่าง เสียอย่าง
"กฏนิวตันข้อ 3 ทางเดียวที่มนุษย์จะไปข้างหน้า ต้องทิ้งบางสิ่งไว้ข้างหลัง" --- หุ่น TARS กล่าว



แถม: ปรัชญา Interstellar จากการ์ตูนสั้น : "ความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งคู่กัน"

" ถ้าความมืด = การไม่มีอยู่ของแสง / ถ้าความเย็น = การไม่มีอยู่ของความร้อน / ถ้าความเงียบ = การไม่มีอยู่เสียง / ถ้าความตาย = การไม่มีอยู่ของชีวิต / ถ้างั้นความดี = การไม่มีอยู่ของความชั่ว หรือ ความชั่ว = การไม่มีอยู่ของความดี ? ..."

* Free Comic ตอน Absolute zero (ศูนย์สัมบูรณ์!) ที่ผู้กำกับ Christopher Nolan จัดให้เป็น Bonus แถมสำหรับแฟนๆหนัง Interstellar... เรื่องราวบรรยากาศ Dr.Mann และ หุ่น KIPP บนดาวน้ำแข็ง กับภารกิจ Lazarus ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ในหนัง ... สามารถอ่านเต็มๆ(ต้นฉบับพากย์Eng)ที่ >> http://goo.gl/ay4qUt ... และมีพากย์แปลไทยแวะที่ >> คลิกที่นี่



สังเขป อภิธานศัพท์ หลักวิทยาศาสตร์/ฟิสิกส์ดาราศาสตร์จริง ที่มีใน Interstellar

* ด้วย Interstellar ถือว่าเป็น Hard Sci-Fi อวกาศ ที่นำทฤษฎีฟิสิกส์ดาราศาสตร์จริงๆมาประยุกต์ใช้เป็นลูกเล่นองค์ประกอบของหนังมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ... และในส่วนฉากอวกาศบางฉากก็พยายามจำลองภาพให้ตรงกับทฤษฎีมากที่สุดด้วย โดยเฉพาะกรณี รูหนอน และ หลุมดำ ฯลฯ ดังนั้นท่านผู้ชมที่ไม่คุ้นเคยจึงอาจสับสนได้บ้าง แต่จะว่าไปแล้วในตัวหนังเองก็มีบทหนังที่อธิบายศัพท์ยากไว้แล้วพอสมควร เพียงแต่อาจแค่บทสั้นๆ และความเป็นหนัง ถึงจะชมผ่านๆข้ามศัพท์ยากไปบ้าง ก็คิดว่ายังสามารถเข้าใจหนังได้อยู่ ก็ไม่ถึงกับปะติดปะต่อเรื่องไม่ได้เลยเสียทีเดียว แต่ก็แน่ละว่าถ้าใครมีพื้นฐานคุ้นเคยดีอยู่บ้างแล้วกับกรณีศัพท์ฟิสิกส์ต่างๆก็ย่อมเข้าถึงหนัง+เพลิดเพลินไปกับหนังได้มากกว่าคนทั่วไป ... อภิธานศัพท์ต่างๆในที่นี้จึงน่าจะเป็นประโยชน์ ที่ใช่ว่าจะไว้สำหรับชม Interstellar แค่เรื่องเดียวแล้วจบกัน แต่ก็น่าจะเป็นความรู้เสริมหลักพื้นฐานกว้างๆที่ดี ไว้ใช้ชม Hard Sci-Fi อวกาศอื่นๆต่อไปได้ด้วยในตัว)

* และแน่นอนว่าการอธิบายความสังเขปในที่นี้ เป็นการใช้ความเข้าใจส่วนตัว ที่พยายามย่อยอธิบายขยายความคำศัพท์ยากๆที่เกี่ยวข้องในหนัง ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายที่สุดเท่าที่จะมีความสามารถของผู้เขียน(กับเวลาอันค่อนข้างจำกัด ต้องเจียดเวลากันสุดตัวด้วยใจรัก ^^) เพราะจริงๆแล้วหลักวิชาของวิทยาศาสตร์/ทฤษฎีฟิสิกส์ต่างๆ บางเรื่องก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ มีแง่มุมและความซับซ้อนเชิงรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย และหากจะลงลึกรายละเอียดกันจริงๆ แค่ทฤษฎีเดียว หรือสมการเดียว ก็อาจสามารถเขียนเท้าความยืดยาวเป็นหนังสือเล่มหนาๆ (แม้บางทฤษฎีก็ยังไม่ใช่ข้อสรุปเป็นจริง 100% ยังคงมีการถกเถียงโต้แย้งในวงการฟิสิกส์เองด้วยก็ตามแต่) และเราในฐานะคอหนังไซ-ไฟ ไม่ใช่นักฟิสิกส์อาชีพก็คงไม่จำเป็นต้องลงลึกขนาดเท่านักฟิสิกส์ก็ได้ ถึงบางประเด็นบางคำศัพท์อาจดูเข้าใจยากบ้าง ก็อย่าเพิ่งไปซีเรียสกันครับ ก็เอาพอเข้าใจในหลักการในภาพรวมกว้างๆ ถ้าช่วยให้การดูหนังแนว Hard Sci-Fi อย่าง Interstellar ได้อรรถรสขึ้น+เสริมจินตนาการไซ-ไฟใหม่ๆเพิ่มขึ้น ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว :) (และสุดท้ายแล้วถ้าหากการอธิบายขยายความศัพท์สังเขปในที่นี้ มีความผิดพลาดประการใด ก็ต้องขออภัยล่วงหน้า +ผู้รู้ก็อย่าลืมช่วยท้วงติงชี้แจง โดยอาจแวะไปฝากข้อความที่ แฟนเพจ สนทนาไซ-ไฟ ก็ได้ครับ )

+ เครดิต ภาพประกอบต่างๆในที่นี้ ส่วนใหญ่มาจากเว็บ www.space.com เป็นหลัก +สมทบด้วยจากแผ่นหนัง Bluray/ทั้งตัวหนังและเบื้องหลัง (และการเสิร์ชจากกูเกิลเสริมหลายๆแหล่ง ฯลฯ)


1. รหัสมอร์ส (Morse code): วิธีการส่งข้อมูลโดยการใช้รูปแบบสัญลักษณ์จุด (•) และขีด (–)ถอดรหัสแปลเป็นภาษาปกติอีกที เช่น ก = – – •, (H)(E)(L)(L)(O) = (••••)(•)(•–••)(•–••)(– – –)


2. ไบนารี (Binary, Binary Numeral System):
ระบบเลขฐานสอง คือ ระบบเลขที่มีสัญลักษณ์เพียงสองตัวเท่านั้น คือ 0 กับ 1 ถอดรหัสแปลเป็นภาษาปกติ รวมทั้งแปลงเป็นค่าข้อมูลอื่นๆได้อีกที และมันคือภาษาหลักสำคัญอย่างหนึ่งของโลกไซเบอร์/ระบบคอมพิวเตอร์ หรือโลกดิจิตอล


3.โพลเทอร์ไกสท์ (Poltergeist)
: ปรากฏการณ์บางอย่าง ที่ยังไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันในแบบชัดเจน 100% จีงเป็นปรากฏการณ์ที่คนในสมัยก่อน(หรือสมัยนี้ก็ตาม)มักมีความเชื่อ+ความกลัว ว่าคงเป็นการกระทำของสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ อย่างอำนาจจากเทพบันดาล หรือ ภูติผีปีศาจไป (ซึ่งแท้จริงแล้วบางกรณีมันก็อาจแค่ปรากฏการณ์ที่คิดไปเอง กลัวไปเอง หรืออาจแค่ภาพหลอนภาวะทางจิตส่วนตัวของคนๆนั้น หรือกระทั้งแท้จริงเบื้องหลังก็แค่กลไกธรรมชาติธรรมดาไม่ได้จะให้คุณให้โทษใคร อาทิ ในอดีต สุริยุปราคา, จันทรุปราคา, แผ่นดินไหว ฯลฯ ก็กลายเป็นว่ามีคนกลัวกันจนต้องจุดธูปกราบไหว้วิงวอน! ถึงระดับที่กลายเป็นประเพณีวัฒนธรรมไปซะด้วยก็มีอยู่)


4. กฎความโน้มถ่วงสากลของนิวตัน (Newton's Law of Universal Gravitation): "เซอร์ ไอแซก นิวตัน" (Sir Isaac Newton) ผู้ค้นพบกฏนี้ ขณะที่เขานั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิ้ล และลูกแอปเปิ้ลได้ตกลงมาจากต้น :) เรียกย่อสั้นๆเป็น กฎแรงโน้มถ่วงนิวตัน ก็ได้ และถือเป็นกฏคลาสสิคที่เปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับธรรมชาติของแรงโน้มถ่วงและการเคลื่อนที่ของวัตถุ อันก่อเกิดเป็นคุณูปการตามมามากมาย อาทิ การเข้าใจเกี่ยวกับการโคจรของดาวต่างๆ, การสร้างเครื่องบิน, การเดินทางสู่อวกาศ ฯลฯ และยังคงสามารถใช้อ้างอิง-ประยุกต์ใช้กับกรณีการเคลื่อนที่ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับแรงโน้มถ่วงได้เป็นอย่างดีจวบจนปัจจุบัน (แม้ต่อมาจะมีทฤษฎีฟิสิกส์ใหม่ๆ ที่ลงลึกกว่า+แม่นยำกว่าอย่าง สัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ หรือควอนตัมก็ตาม *ดูเพิ่มเติมล่างๆต่อไป) ... หลักการของกฎแรงโน้มถ่วงนิวตัน อธิบายแบบง่ายๆก็คือ หลักที่ว่า "วัตถุทุกชนิดล้วนมีแรงดึงดูดซึ่งกันและกัน และแรงดึงดูดจะมีมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับมวลของวัตถุนั้นๆ" ตัวอย่างกรณี แรงโน้มถ่วงของโลก ก็คือ แรงดึงดูดที่มวลของโลกได้กระทำต่อมวลของวัตถุอื่น(ที่มีมวลน้อยกว่าโลกมาก) ในลักษณะดึงดูดวัตถุนั้นเข้าสู่จุดศูนย์กลางของโลก ส่งผลวัตถุต่างๆและตัวเราจึงติดกับโลกไม่ลอยออกนอกโลกไป โดยที่แรงโน้มถ่วงของโลกที่มีต่อวัตถุจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับขนาดมวลของโลกเอง กับขนาดมวลของวัตถุเองนั้นๆดังหลักที่เกริ่น และเมื่อหักลบผลแรงการดึงดูดระหว่างกันก็จะได้เป็นค่า น้ำหนักของวัตถุนั่นนั้นเอง และกับกรณีทำไม ดวงจันทร์โคจรอยู่รอบโลกไม่ลอยไปที่อื่นก็ด้วยเหตุแรงดึงดูดนี้เอง แต่ดวงจันทร์มีมวลใหญ่ไม่ใช่เล็กๆแบบวัตถุทั่วไปในโลก(ทั้งผนวกกับความห่างไกล) แรงโน้มถ่วงทั้งสองจึงดึงดูดระหว่างกัน+หักล้างต่อกันและกัน จึงกลายเป็นการโคจรแทนที่จะหล่นลงสู่พื้นโลก หรือกรณีโลกและดาวต่างๆในระบบสุริยะโคจรรอบดวงอาทิตย์ ก็ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน แต่ต่างที่ดวงอาทิตย์มีมวลมากกว่าดาวดาวอื่นๆ ... การนำกฏนี้ประยุกต์ใช้ ก็อาทิ กรณีหากเราต้องการส่งวัตถุ หรือ ยานอวกาศออกนอกโลก ก็ต้องทำให้ยานอวกาศนั้น เคลื่อนที่ด้วยความเร็วพอที่จะผลักดันยานนั้นให้พ้นอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของโลก ที่เรียกว่า "ความเร็วหลุดพ้น" (Escape Velocity) (อันมีค่าประมาณ 11.2 km/s หรือ 40,320 km/h) เพราะถ้าหากไม่เร็วพอก็ย่อมจะถูกดูดกลับโดยแรงโน้มถ่วงของโลก ก็ไม่อาจออกพ้นโลกได้นั้นเอง

และก็ยังมีกฏสำคัญที่เกี่ยวเนื่องอีกอย่างของนิวตัน ก็คือ "กฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน" ( Newton's Laws of Motion) อันเป็นการอธิบายความสัมพันธ์ของ แรงกระทำ และการเคลื่อนที่ของวัตถุ ... และผลงานที่สำคัญอื่นๆก็ยังมีอีกมากมาย อาทิ นิวตันยังเป็นผู้สร้างกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงที่สามารถใช้งานจริงได้เป็นเครื่องแรก ทั้งพัฒนาทฤษฎีสีโดยอ้างอิงจากผลสังเกตการณ์ว่า ปริซึมสามเหลี่ยมสามารถแยกแสงสีขาวออกมาเป็นหลายๆสีได้ ซึ่งเป็นที่มาของสเปกตรัมแสงที่มองเห็น +ทั้งยังเป็นผู้ตั้งทฤษฎีแคลคูลัส (Calculus) อีกต่างหาก

*ขยายความเสริม: กฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน หรือที่เรียกสั้นๆว่า "กฎ 3 ข้อของนิวตัน" (Newton’s laws)

-กฎข้อที่ 1 กฎของความเฉื่อย (Inertia) : "วัตถุที่หยุดนิ่งจะพยายามหยุดนิ่งอยู่กับที่ ตราบที่ไม่มีแรงภายนอกมากระทำ ส่วนวัตถุที่เคลื่อนที่จะเคลื่อนที่เป็นเส้นตรงด้วยความเร็วคงที่ ตราบที่ไม่มีแรงภายนอกมากระทำเช่นกัน"

- กฎข้อที่ 2 กฎของแรง (Force) : "ความเร่งของวัตถุจะแปรผันตามแรงที่กระทำต่อวัตถุ แต่จะแปรผกผันกับมวลของวัตถุ" ดังสมการ แรง = มวล x ความเร่ง (F = m x a) หรือ บางครั้งกลับสมการเป็น ความเร่ง = แรง ÷ มวล (a = F ÷ m) ก็ขึ้นอยู่กับการนำสมการไปหาค่าอะไร ... สมมุติว่ามีมวลหนัก 50 กิโลกรัม(50 kg) และเดินด้วยความเร่ง 1 เมตร/วินาที(1 m/) สามารถหาแรงที่ใช้ได้ โดยการแทนค่ามวลและความเร่งลงในสมการดังกล่าว ก็จะได้ แรง = 50 kg x 1 m/ ผลในที่นี้ แรงก็จะ = 50 N (เรียกหน่วยนี้ว่านิวตัน ( N ) เพื่อเป็นเกียรติแก่ไอแซคนิวตัน ในข้อตกลงที่ว่า 1 นิวตันมีค่าเท่ากับแรงที่ใช้เพื่อทำให้วัตถุมวล 1 กิโลกรัม มีความเร่งเท่ากับ 1 เมตรต่อวินาทีต่อวินาที)

- กฎข้อที่ 3 กฎของแรงปฏิกิริยา : "แรงที่วัตถุที่หนึ่งกระทำต่อวัตถุที่สอง ย่อมเท่ากับ แรงสะท้อนกลับที่วัตถุที่สองกระทำกลับต่อวัตถุที่หนึ่งด้วย แต่ทิศทางตรงข้ามกัน" (Action = Reaction) ... (ใน Interstellar คำพูดของหุ่น TARS และ คูป ที่ว่า ... "กฏนิวตันข้อ 3 ทางเดียวที่มนุษย์จะไปข้างหน้า ต้องทิ้งบางสิ่งไว้ข้างหลัง" ก็เป็นการเล่นคำอีกแบบกรณีกฏข้อ 3 นี่เอง)


5. ทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Theory of Relativity): ทฤษฎีปฏิวัติแนวคิดทางฟิสิกส์แห่งยุค โดย อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ... เข้าใจแบบง่ายๆที่สุดก็คือ ทฤษฎีว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งทั้งปวงไม่ว่าจะกรณี ขนาด, มวล, พลังงาน, แสง, พื้นที่ว่างหรืออวกาศ, แรงโน้มถ่วง ฯลฯ และโดยเฉพาะกรณีปริศนาเกี่ยวกับ "เวลา" ทั้งยังเกี่ยวโยงกับแนวคิดใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนที่เรียกว่า Spacetime !? อันหมายถึง พื้นที่อวกาศและเวลา อันไม่เคยแยกจากกันได้ และสามารถถูกบิดเบี้ยวได้! (ดูขยายความข้อถัดๆไป) ... ซึ่งมีสมการที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีนี้ เป็นที่คุ้นตากันเป็นอย่างดีนั้นคือสมการ E=mc2 อันเป็นสมการความสมมูลกัน(เปลี่ยนแทนกันได้) ระหว่างมวลและพลังงานอันเกี่ยวเนื่องกับความเร็วแสงด้วย และทฤษฎีสัมพัทธภาพยังแบ่งเป็น 2 ทฤษฎีหลัก คือ "ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ" และ "ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป" อันเป็นทฤษฎีที่ไอน์สไตน์เองพยายามทำให้มันเป็นสูตรเดียวที่ใช้ได้กับทุกๆแง่มุมในธรรมชาติ ตั้งแต่ระดับเล็กกว่าอะตอมยันดวงดาว/อวกาศ แต่กระนั้นทฤษฎีก็ยังไม่สามารถอธิบายทุกสรรพสิ่งได้อย่างสมบูรณ์ 100% ซะทีเดียว (โดยเฉพาะกับอนุภาคเล็กมากอย่างเล็กกว่าอะตอม หรือเล็กในระดับ ควาร์ก! จึงต้องมีทฤษฎีใหม่อย่าง ทฤษฎีควอนตัม มาเติมเต็ม)

*ขยายความเสริม: สัมพัทธภาพ 2 ทฤษฎี "ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ" และ "ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป"

สัมพัทธภาพ เป็นการปฏิวัติความคิดใหม่ทั้งหมด คือ ขนาด และเวลา ไม่ใช่ค่าสัมบูรณ์ แต่มันเป็นเพียงค่าสัมพัทธ์ ที่ซึ่งจะต่างกันไปแต่ละผู้สังเกตการณ์ คือ มันมีการยืดออกของเวลา และ การหดตัวของความยาว ส่วนความเร็วแสงที่แต่เดิมคิดว่ามันเป็นค่าสัมพัทธ์ แต่มันกลับกลายเป็นค่าสัมบูรณ์ ที่ทุกผู้สังเกตการณ์จะวัดความเร็วแสงได้เท่ากันทุกคน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรานั่งรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วเราโยนก้อนหินออกไปในทิศทางเดียวกันกับที่รถไฟวิ่ง ด้วยความเร็ว 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็วโดยรวมทั้งหมดของก้อนหินคือ 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้าเรานั่งรถไฟด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วเปิดไฟส่องทาง ความเร็วแสงที่ได้จะไม่ใช่เอาความเร็วแสงไปบวกกับความเร็วรถไฟ เรายังได้ความเร็วแสงที่ประมาณ 300,000 กิโลเมตร/วินาทีเหมือนเดิม

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ถ้าเรานั่งยานที่เคลื่อนที่เร็ว 299,999.9999 กิโลเมตร/วินาที จากนั้นเราก็วิ่งไปในทิศทางเดียวกันกับที่ยานเคลื่อนที่ แล้วเปิดไฟฉายส่องไปข้างหน้าด้วย นั่นไม่ได้แปลว่าเราจะเห็นแสงวิ่งออกจากกระบอกไฟฉายช้าลงในระดับที่เห็นแสงค่อยๆโผล่ออกมา หรือ เราวิ่งแซงแสงได้ แต่เราก็ยังเห็นแสงเคลื่อนที่เร็วแบบที่เห็นบนโลก ที่เวลาเปิดไฟฉายเราก็จะเห็นแสงมันสว่างออกทันที เรายังวัดความเร็วแสงได้ 300,000 กิโลเมตร/วินาทีเหมือนเดิม ที่มันเกิดเหตการณ์ที่มันขัดกับสามัญสำนึกได้ก็เพราะ การที่เราอยู่บนยานที่เคลื่อนที่เร็วระดับนั้น มันจะทำให้เวลามันช้าลง เราจึงเห็นแสงวิ่งเร็วเท่าเดิมอยู่ตลอด ถึงแม้เราจะนั่งยานที่มีความเร็วมากขนาดนั้น แล้วบวกความเร็วที่เราวิ่งบนยาน เราก็ไม่เคยวิ่งเร็วกว่าแสงเลย

สัมพัทธภาพพิเศษ (Spacial Relativity) คำว่า "พิเศษ" นั้นหมายถึงเป็นการคิดในสภาวะที่พิเศษ คือ บริเวณที่ไม่มีแรงโน้มถ่วง ซึ่งในจักรวาล บริเวณที่ไม่มีแรงโน้มถ่วงเอาเลย มันไม่มีอยู่จริง ยังไงมันก็ต้องเหลือค่าอีกเล็กน้อย แต่ในบางกรณีถ้าเราต้องการแค่ประมาณค่า มันก็เอาไปใช้คำนวณได้บ้างในบริเวณที่มีแรงโน้มถ่วงอยู่น้อยจริงๆ สัมพัทธภาพแบบนี้มีเรื่อง spacetime ที่โค้งงอได้ แต่ยังไม่ได้รวมเรื่องแรงโน้มถ่วงเข้าไป เลยเอาไปใช้ประโยชน์ในการคำนวณได้ไม่มากเท่าไหร่ มีประโยชน์ในเรื่องช่วยปฏิวัติความคิดของเราเป็นหลักแค่นั้น

ส่วน สัมพัทธภาพทั่วไป (General Relativity) เป็นการรวมเอาแรงโน้มถ่วงเข้ามาแล้ว ทำให้สัมพัทธภาพทั่วไปนั้น สามารถเอามาใช้แทน กฎแรงโน้มถ่วงของนิวตัน ได้ ซึ่งจะคำนวณได้ถูกต้องมากกว่าฟิสิกส์นิวตัน เพราะคิดเรื่องการยืดหดของเวลา และขนาดไว้เรียบร้อยแล้ว (spacetime ที่โค้งงอก่อให้เกิดแรงโน้มถ่วง) แต่สัมพัทธภาพทั่วไปก็จะไปเจอกับความล้มเหลว เมื่อเอาไปคำนวณในบริเวณที่อยู่ใกล้กับซิงกูลาริตี้ ในบริเวณนั้นต้องใช้กฎใหม่ในการอธิบายนั่นก็คือ "กฎแรงโน้มถ่วงควอนตัม" ซึ่งนักฟิสิกส์ทฤษฎี ณ ปัจจุบันนี้ยังมีความเข้าใจในกฎนี้ไม่มากพอ

แต่สัมพัทธภาพพิเศษยังพอมีประโยชน์ในการคำนวณที่แรงโน้มถ่วงไม่มีความสำคัญ เช่น เอาไปใช้คำนวณอิเลคตรอนที่ชนกันในเครื่องเร่งอนุภาค ซึ่งก็คำนวณได้ถูกต้องทุกครั้ง และคำกล่าวที่ว่า ไม่มีอะไรเร็วกว่าแสง และวัตถุหรืออนุภาคที่มีมวลไม่มีทางเร็วเท่าแสงได้ ก็มาจากสัมพัทธภาพพิเศษด้วย และพิสูจน์ได้จากเครื่องเร่งอนุภาคที่ไม่ว่าจะอัดพลังไปเท่าไหร่ก็ได้ ก็ทำได้แค่เพิ่มตำแหน่งทศนิยม (เช่น99.99999%ของความเร็วแสง) แต่ไปไม่ถึงความเร็วแสงซักที

ส่วนกรณี E=mc2 : หรือสมการสมมูลของมวลและพลังงาน ที่ถือว่าเป็นสมการที่ดังที่สุดในโลก! อันคนทั่วโลกแทบคุ้นเคย เคยเห็นผ่านตากันทุกคน (ถึงไม่รู้จักมันมากก็ตาม) ... "สมมูล" คือ การเปลี่ยนแทนกันได้ ตามกฎสัมพัทธภาพพิเศษของไอน์สไตน์ มวลเป็นเพียงรูปหนึ่งของพลังงานที่อัดแน่นมาก นั่นหมายความว่า มวล กับ พลังงาน เป็นสิ่งเดียวกันนั่นเอง เราแค่เรียกชื่อแยกออกจากกันแค่นั้น ดังนั้นมันเป็นไปได้ ที่เราจะเปลี่ยนมวลให้กลายเป็นพลังงาน รวมไปถึงเปลี่ยนคนให้การเป็นพลังงานระเบิด ปริมาณพลังงานที่ได้จากการเปลี่ยนมวลจะมีค่ามหาศาลตามสูตร E=mc2 E= พลังงานที่ระเบิดออกมา, m คือมวลที่เปลี่ยนเป็นพลังงาน, และ c = 2.99792x108 เมตรต่อวินาที นั่นก็คือความเร็วแสง ... ถ้าหากเราเปลี่ยนคนที่หนัก 75 กิโลกรัมให้กลายเป็นพลังงาน สูตรนี้พยากรณ์ว่าพลังงานระเบิดจะเท่ากับ 7x1018 จูล ซึ่งมีค่ามากกว่าพลังงานของระเบิดไฮโดรเจนที่มีพลังงานการระเบิดมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาถึง 30 เท่า ... ความรู้เรื่องการสมมูลของมวลและพลังงานในตอนแรกนั้นมีการเอามาประยุกต์ในการอธิบายเรื่องซูเปอร์โนวา ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร (ซูเปอร์โนวาเป็นการระเบิดที่รุนแรงมาก ที่เกิดขึ้นกับดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่า1.4เท่าของดวงอาทิตย์ขึ้นไปจะตายด้วยการระเบิดของแก๊สชั้นนอก ส่วนเนื้อสารข้างในจะเกิดการยุบตัว) และต่อมาความรู้เรื่องนี้ก็ถูกนำไปประยุกต์เพื่อ สร้างระเบิดปรมาณู! และระเบิดไฮโดรเจน

( * และถึงแม้ กฎแรงโน้มถ่วงนิวตัน (Newton's law of universal gravitation) อันเป็นทฤษฎีคลาสสิคเดิม เมื่อเทียบกับสัมพัทธภาพทั่วไปแล้ว ในแง่ความถูกต้องเทียบกันไม่ได้ก็จริง แต่กฎนิวตันก็ยังมีประโยชน์อยู่มากและยังใช้งานได้อยู่ คือ ในกรณีที่ไม่ได้สร้างยานที่เคลื่อนที่เร็วมากใกล้เคียงแสงจนเวลาไหลช้า หรือ ไม่ได้อยู่ในบริเวณที่มีแรงโน้มถ่วงสูงจนเวลาเดินช้าอย่างเห็นได้ชัด หรือต้องการแค่ประมาณค่า กฎของนิวตันก็ยังใช้ได้ดี ทุกวันนี้ก็ยังใช้กฎนิวตันอยู่ตลอดไม่ได้ตัดทิ้งไปเพราะการมาของ ทฤษฎีสัมพัทธภาพ แต่ประการใด )


6. กาลอวกาศ (Spacetime): อันมาจากทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์นั้นเอง ... "Space" (ปริภูมิ) คือ พื้นที่ว่างหรือห้วงอวกาศเป็นระบบ 3 มิติ เชิงเรขคณิต (อันมี กว้าง x ยาว x สูงหรือลึก) + "Time" ก็คือ เวลา (*ในหลักที่ว่า เวลามีอยู่จริงไม่ใช่แค่คำสมมติเรียกความเปลี่ยนแปลง อย่างที่เข้าใจกันทั่วไป) และ Space+Time ทั้งสองเป็นเนื้อเดียวกันอย่างแยกจากกันไม่ได้ มี Spaceก็ต้องมีTime จึงเรียกว่า Spacetime ... เข้าใจง่ายๆก็คือ ที่ว่างกาลอวกาศ ไม่ใช่ว่างแบบไม่มีอะไร แต่แท้จริง มีอิทธิพลครอบคลุมต่อชีวิตและความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมทั้งปวง อุปมา Spacetime เป็นเสมือนยางยืดใสๆที่มองไม่เห็น แต่กระจายตัวทั่วจักรวาลหุ้มรอบๆดาวต่างๆ วัตถุต่างๆ/ตัวเรา หรือกระทั้งระดับหุ้มรอบอนุภาคระดับ อะตอม! หรือเล็กกว่าอะตอม ซึ่งตามทฤษฎีสัมพัทธภาพของ ไอน์สไตน์แล้ว พบว่า Spacetime เมื่ออยู่ในภาวะปกติมันจะคงตัวเท่าเดิม (เหมือนยางที่อยู่นิ่งๆไม่ถูกยืดนั้นเอง) แต่ก็สามารถบิดเบี้ยวได้-ยืดหยุ่นยืดหดได้ ถ้าหากมีแรงหรือพลังบางอย่างที่สูงมากพอมากระทำ อาทิ แรงโน้นถ่วงสูงๆ (จากดาวมวลมากต่างๆ อาทิ ดวงอาทิตย์ หรือจากหลุมดำ ฯลฯ) และเมื่อวัตถุหรือกระทั้งแสง เคลื่อนที่ผ่านในที่ว่างหรืออวกาศที่บิดเบี้ยววิถีของมันก็จะโค้งตาม Spacetime ที่บิดเบี้ยวนั้นไปด้วย และหากบิดเบี้ยวมากก็อาจถึงขั้นยืด-หด เวลาได้ อันจะทำให้ Spacetime พื้นที่นั้นมีอัตราเวลาไม่เท่ากับ Spacetime ที่อื่นๆ


7. รูหนอน (Wormhole):
หรืออีกชื่อคือ "สะพานไอน์สไตน์-โรเซ็น" (Einstein-Rosen bridge) อุปมาก็คือ รูโพรง ในอวกาศ อันเกิดจากการพับ/ม้วน Spacetime (ด้วยพลัง/แรงมหาศาลบางอย่าง ? ) ก่อเกิดเป็นทางลัดระหว่างดวงดาว หรือแกแลคซีอันไกลโพ้น ... ถ้าอุปมา Spacetime เป็นเหมือน "กระดาษ" เราพับปลายกระดาษจากด้านหนึ่งและอีกด้านเข้าหากันและเจาะรูที่พื้นที่ส่วนปลายนั้น และใช้รูนั้นเป็นทางลัด ซึ่งแน่นอนว่าผลก็คือจะช่วยย่นระยะทางได้อย่างมหาศาลหลายเท่าตัว แต่เนื่องจากจริงๆแล้ว Spacetime เป็น 3 มิติ ผลที่ออกมา รูหนอนจึงเป็นลักษณะทรงกลม(คล้ายฟองตามในหนัง) ไม่ใช่รูปลักษณ์ที่อุปมาเป็นรู/ท่อปกติ (ซึ่งว่าไปแล้วมันปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างเหนือสามัญสำนึกทั่วไปมาก แต่การอุปมาพับกระดาษและเรียกว่า รู ก็เพียงแค่ให้เห็นภาพง่ายขึ้นเท่านั้น) ... และ รูหนอนไม่ใช่ปรากฎการณ์ทีเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ต้องมีบางอย่างไปกระทำต่อ Spacetime ... *และหลักปกติทั่วๆไป รูหนอน จะทำได้แค่ย่อระยะทางในอวกาศเฉยๆเท่านั้น แต่ก็มีอีกสมมุติฐานไอเดียว่า ไม่แน่การเดินทางผ่านรูหนอน ก็มีโอกาสที่จะเป็นการเดินทางแบบ ท่องกาลเวลา(ย้อนอดีต-ไปอนาคต) ได้มากที่สุดด้วยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนก็คงต้องมี แรง หรือพลังมากพอ ที่จะมาบิดเบี้ยวม้วนพับ Spacetime ในส่วนของ Time ที่รุนแรงมากยิ่งๆไปอีกขั้น ถึงจะบิดเบี้ยวในส่วนเวลานั้นได้ จนก่อเกิดการท่องกาลเวลา และจริงๆไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลยที่จะมี พลังงานหรือแรงอะไรที่จะมากระทำต่อ Spacetime ขนาดนั้นได้ (ทั้งประเด็นรูหนอนก็ยังคงเป็นที่วิเคราะห์+ถกเถียงในวงการฟิสิกส์ดาราศาสตร์ต่อไป)


* ขยายความเสริม: รูหนอน เป็นเพียงเชิงทฤษฎีฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ที่คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้นได้ โดย "Nathan Rosen" ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของไอน์สไตน์สมัยที่ท่านอพยพมาอยู่อเมริกา เลยให้เกียรติเรียกว่า Einstein-Rosen bridge ... และพบว่าโดยปรกติแล้วปรากฏการณ์ รูหนอน มันจะเกิดขึ้นได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆแว้บเดียวเท่านั้น ต่อมานักฟิสิกส์นาม "Kip Thorne" ก็ได้ศึกษาและพัฒนาทฤษฎีต่อยอดขึ้นใหม่ทำให้แนวคิดเกี่ยวกับรูหนอนมีความเป็นไปได้มากขึ้นไปอีกขั้น นั้นคือถ้าหากเราใส่สสารพิเศษที่ปากท่อของมันทั้งสองด้าน ก็จะทำให้มันแปะติดค้างเป็นโพรงได้นานขึ้น จนสามารถเดินทางผ่านได้ แต่สสารพิเศษนั้นยังคงเป็นสิ่งที่เป็นได้แค่แนวคิดทฤษฎี ยังไกลกว่ามนุษย์เราสร้างได้ จึงเรียกว่า "สสารประหลาด" (Exotic matter) ไปพลางๆก่อน ด้วยเป็นแนวคิดที่ดูจะเลยเถิดหลักทางฟิสิกส์และสสารทั้งหมดที่มนุษย์เราเคยรู้จัก และผลจากการสังเกตการณ์ ถ้าจะมีอะไรที่ใกล้เคียงกับสสารพิเศษของ Kip Thorne ก็น่าจะเป็นทำนองคล้ายๆกับ สสารมืด(Dark Matter)/พลังงานมืด(Dark Energy) ที่ทำให้เอกภพขยายตัวด้วยความเร่ง

- กรณีข้ามเวลาของรูหนอน: ต่อให้รูหนอนเป็นทำนองไทม์แมชชีนได้จริงๆ ... แต่มันก็ไม่ได้สะดวกแบบไทม์แมชชีนในหนังไซ-ไฟแฟนตาซีทั่วๆไป ที่จะย้อนไปเวลาไหนก็ได้ เบื้องต้นพบว่ารูหนอนย้อนได้ไกลสุดแค่ช่วงเวลาที่มันถือกำเนิดขึ้น มันย้อนไปไกลกว่านั้นไม่ได้ และนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำไมถึงไม่มีมนุษย์จากอนาคตย้อนอดีตมาหาเราก็เป็นได้ (เพราะรูหนอนกว่าจะสร้างได้อาจจะอยู่หลังยุคเราไปอีกนาน) ... และสำหรับเรื่องการย้อนเวลาแล้ว ก็มีนักฟิสิกส์หลายๆคนเองก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ และหัวเรือใหญ่ของกลุ่มที่ไม่เชื่อเรื่องการข้ามเวลาคือ "สตีเฟน ฮอว์คิง" ผู้เสนอแนวคิด "การปกป้องลำดับเวลา" ที่บอกว่ากฎฟิสิกส์ไม่อนุญาตให้เกิดการข้ามเวลาได้

- กรณีการจะทำให้รูหนอนมันเปิดได้: ก็อย่างที่เกริ่นไปแล้ว ณ ขณะนี้มีวิธีเดียวที่มีโอกาสเป็นไปได้ คือ ต้องใช้สสารบางอย่างที่จะทำให้รูหนอนขยายออกและค้างนานขึ้น ก็ด้วยแรงโน้มถ่วง ดังนั้นเมื่อเวลามีแสงเดินทางผ่านสสารตัวนี้ แสงจะถูกผลักออก สสารประหลาดที่ว่านี้จึงมีพฤติกรรมเหมือนเลนส์แยกแสง ซึ่งมันจะแยกลำแสงออกด้วยแรงโน้มถ่วง (ปรากฎการณ์นี้จะตรงกันข้ามกับเลนส์โน้มถ่วงที่เกิดขึ้นกับดาวฤกษ์ขนาดยักษ์ กาแลคซี หรือ หลุมดำ อันกรณีนั้นแสงจะถูกรวมแสงด้วยแรงโน้มถ่วง) หรือพูดง่ายๆก็คือ สาเหตุที่เราเห็นรูหนอนเป็นเหมือนเลนส์แบบในหนัง Interstellar ดูเหมือนมันทำให้แสงที่อยู่รอบๆนั้น เดินทางแปลกๆไป จนเกิดเป็นภาพแปลกตาแบบนั้น ก็เป็นเพราะ "พวกคนในอนาคต"(ในท้องเรื่อง Interstellar) ได้เติมสสารประหลาดนี้เข้าไปในรูหนอนนั่นเอง มันไม่ได้เกิดจากตัวคุณสมบัติของรูหนอนเองที่ทำให้แสงที่เดินทางผ่านมันไปมีสภาพแบบนั้น ... และการที่สสารนั้นจะสามารถผลักผนังของรูหนอนให้ขยายได้ ด้วยแรงโน้มถ่วงนั้น สสารที่ว่านั่นต้องมีความหนาแน่นพลังงานเฉลี่ยเป็นลบ! ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ประหลาดมาก เพราะสสารที่คุ้นเคยนั้น ความหนาแน่นพลังงานเฉลี่ยล้วนเป็นบวกทั้งสิ้น และจากความประหลาดนี้เองจึงเรียกสสารนั้นว่า "สสารประหลาด (Exotic matter)" ข้างต้น แต่เนื่องจากกฎฟิสิกส์ที่เรารู้ในทุกวันนี้ มันยังไม่ได้ชัดเจนถึงขั้นเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล(ก็เรียกว่ายังรู้น้อยมาก) ดังนั้นจึงยังฟันธง 100% ไม่ได้ว่า สสารประหลาดนั้นมีจริง หรือ ไม่มีอยู่จริงกันแน่ และต่อให้มีอยู่จริงมันก็อาจจะขยายรูหนอนไม่ได้ก็เป็นได้ ทั้งเราก็ยังไม่รู้ว่าถ้าใส่สสารนี้เข้าไปในรูหนอน คุณสมบัติอันแสนประหลาดของมันจะยังคงอยู่เหมือนเดิมหรือเปล่า ดังนั้นจึงต้องศึกษาเรื่องนี้กันต่ออีกเยอะกว่าจะหาคำตอบได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาส หรือไร้สาระเสียเลย (และบางทีการเข้าใจ กฎแรงโน้มถ่วงควอนตัม !? อย่างถ่องแท้ ก็อาจจะนำมาซึ่งคำตอบสำหรับเรื่องนี้ได้?)

"รูหนอน ไม่ใช่ปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ" -- คูเปอร์

"พวกเค้าวางมันที่นั่น" -- แบรนด์

"พวกเค้า! ใคร?"
-- คูเปอร์

* ข้อความข้างต้นในหนังมา จากหลักการฟิสิกส์จริงๆ ณ ปัจจุบัน ว่า รูหนอน มันเกิดขึ้นเองไม่ได้ ต้องมีการสร้างมันขึ้นมาเท่านั้น และนี่คือบางคำกล่าว บทสรุปกรณีความเป็นไปได้ของ รูหนอน ใน Interstellar ที่เผยในแผ่น extra/bluray: "ความจริงคือตอนนี้คือ เราไม่เข้าใจกฎทางฟิสิกส์มากพอที่จะพูดได้อย่างมั่นใจเลยว่า รูหนอนอวกาศนั้นมีจริงๆเป็นไปได้ หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ ...ผู้สร้างหนังจึงมีสิทธิ์ที่จะจินตนาการ"


8. หลุมดำ (Black Hole) หรือ การ์แกนทัว์ (Gargantua) / +องค์ประกอบหลักๆของหลุมดำได้แก่ ขอบฟ้าเหตุการณ์ (Event Horizon), ซิงกูลาริตี้ (singularity) และวงแสงรอบหลุมดำ (Accretion Disc)

- ที่มาของ หลุมดำ ดั้งเดิมก็คือดาวฤกษ์มวลหนักกว่าดวงอาทิตย์หลายเท่าที่หมดอายุขัย และเกิดปฏิกิริยาภายในเป็นแรงโน้มถ้วงมหาศาลสูบยุบตัวเองทุกทิศทาง จนมวลอัดแน่นเล็กมาก มีจุดศูนย์กลางที่เล็กที่สุด เล็กกว่าอะตอม! ชนิดที่เรียกว่าได้เป็นจุดที่เล็กเป็นอนันต์! และ ณ จุดนั้นเองอันเป็นใจกลางหลุมดำ จะมีแรงโน้นถ่วงเข้มข้นมหาศาลเป็นอนันต์! เรียกจุดนั้นว่า "เอกภาวะ" หรือ ซิงกูลาริตี้ (singularity) ด้วยแรงโน้มถ่วงที่สูงมากกระทั้งแม้แต่แสงที่ถูกสูบเข้าไปแล้วก็ออกมาไม่ได้ เราจึงไม่เห็นอะไรเลยนอกจากความดำมืด จึงเรียกมันว่า "หลุมดำ" ทั้งที่จริงแล้วภาวะของหลุมดำมันไม่ได้มีลักษณ์เป็นหลุมหรือรู แต่เป็นทรงกลม 3 มิติมากกว่า แต่ที่เรียกว่าหลุมก็แค่อุปมาเป็นภาษาพูดให้้เข้าใจง่ายขึ้นเท่านั้น(ก็ทำนองเดียวกับ เรียก รูหนอน) ... และพลังแรงโน้มถ่วงที่แรงมากในระดับที่แสงก็ผ่านออกมาไม่ได้นี้ มันจะกินพื้นที่เป็นวงกว้างแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบและมวลของดาวฤกษ์เดิมนั้นๆว่ามากแค่ไหนยิ่งมวลมากก็ยิ่งกว้าง หลุมดำยิ่งมีขนาดใหญ่ โดยขอบเขตอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงที่แสงผ่านไปแล้วแล้วออกมาไม่ได้ข้างต้น เรียกพื้นที่นั้นว่า "ขอบฟ้าเหตุการณ์" (Event horizon) ก็คือพื้นที่ของทรงกลมมืดดำนั้นเอง และขนาดรัศมีของ"ขอบฟ้าเหตุการณ์ นั้นเรียกว่า "รัศมีชวาสชิลด์" (Schwarzschild Radius) (เพื่อเป็นเกียรติแด่นักฟิสิกส์ผู้เกี่ยวของกับทฤษฎีหลุมดำอีกคนนาม ชวาสชิลด์ ) และแน่นอนว่าเมื่อเลยออกจากขอบเขตของ ขอบฟ้าเหตุการณ์ ไปแล้วแรงโน้มถ่วงก็จะค่อยๆเจือจางลงไปตามลำดับ

- ส่วนแสงที่อยู่รอบๆหลุมดำ เรียกว่า "Accretion Disc" (จานพอกพูนมวล) ก็คือ กลุ่มสะสมของ แก๊ส และ ฝุ่น ที่ได้รับอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงของหลุมดำ มาหมุนกระจุกเป็นรัศมีรอบๆขอบฟ้าเหตุการณ์ของหลุมดำ แต่ด้วยยังไม่ก้าวเข้าไปสู่พื้นที่ในส่วนของขอบฟ้าเหตุการณ์เราจึงยังเห็นมันอยู่ โดย Accretion Disc จะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ทั้งเปล่งแสงและปลดปล่อยรังสีเอ็กซ์ออกมา (+อย่าลืมว่าในพื้นที่อวกาศภายนอกขอบฟ้าเหตุการณ์ของหลุมดำ ก็มีแรงโน้มถ่วงอื่นๆกระจายตัวทั่วไปด้วย ที่เกิดเป็น Accretion Disc หมุนรอบหลุมดำค้างอยู่ได้นั้น ก็เพราะแรงโน้มถ่วง+ทั้งแรงอื่นๆในอวกาศอื่นๆ ภายนอกนอกหลุมดำ เป็นตัวดึงลางกระทำต่อกันและกันกับแรงโน้วถ่วงของหลุมดำอีกทีนั้นเอง และทั้งก็ยังมีแสงอื่นที่ผ่านเข้ามาสู่พื้นที่ Spacetime รอบหลุมดำ อัน Spacetime รอบหลุมดำก็ย่อมต้องถูกบิดเบี้ยวอย่างรุนแรงในระดับเป็นวงกลม แสงจึงหักเหเป็นวงกลมรอบหลุมดำสมทบกับแสง Accretion Disc ด้วย หน้าตาของหลุมดำที่เกิดขึ้นจึงเป็นประมาณที่เห็นในหนัง อันถือได้ว่า หลุมดำใน Interstellar เป็นหลุมดำที่มีรูปหลักใกล้เคียงตรงกับทฤษฎีมากที่สุดที่เคยมีมาที่สุดแล้ว ... เพราะหนังส่วนใหญ่จะเป็นแผ่นโพรงดำยุบแค่นั้น :)

- ส่วนคำ การ์แกนทัว (Gargantua) ใน Intersellar ก็คือชื่อเรียก หลุมดำขนาดยักษ์ หรือ Supermassive Black Hole (ในรูปประกอบซ้ายข้างบนจะเห็นว่า ขนาดใหญ่มากๆ รัศมีเท่ากับระยะจากดวงอาทิตย์ถึงโลกเลยทีเดียว) การ์แกนทัว์เป็นหลุมดำที่มีการหมุนเป็นแรงเหวี่ยงรุนแรงมาก และหากมีดาวใดก็ตามที่อยู่ใกล้พื้นที่อิทธิพลแรงโน้มถ่วงของหลุมดำการ์แกนทัว์นี้มากๆ ก็จะส่งผลให้เกิดมีการบิดเบี้ยวของ Spacetime รอบดาวนั้นรุนแรงมาก ก่อเกิดเป็นปรากฏการณ์เวลาไม่เท่ากันกับ Spacetime พื้นที่อื่น เช่นที่ 1 ชั่วโมงของพื้นที่ Spacetime ใกล้หลุมดำจะ = 7 ปี ของอีกพื้นที่หนึ่งอันเป็น Spacetime ปกติทั่วไป เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "Time dilation" (* ผลก็ดังที่เห็นกันไปในหนัง แต่กระนั้นคนที่อยู่ใน Spacetime ที่ถูกยืดบิดเบี้ยวนั้นๆ ก็จะไม่ได้รู้สึกว่าเวลามันเร็ว-ช้า หรือได้เวลาเพิ่มขึ้นแต่ประการใด ยังคงรู้สึกปกตินั้นเอง นั้นคือ เวลา 1 ชั่วโมงของเขา ก็คือนาฬิกาเดิน 1 ชั่วโมงปกติ) ส่วนบริเวณรอบๆหลุมดำไม่ต้องพูดถึงเลย Spacetime บิดเบี้ยวรุนแรงมากชนิดที่ 1 ชม. รอบๆใกล้ชิดกับหลุมดำนั้นอาจ = เป็น 100 ปี! ของโลกเลยทีเดียว

* ขยายความเสริม: กรณีขอบฟ้าเหตุการณ์ของหลุมดำ

ปกติถ้าหากเมื่อยานอวกาศหรือวัตถุใดๆก็ตามได้เกิดก้าวล่วงเข้าไปใกล้เขตขอบฟ้าเหตุการณ์ของหลุมดำมากๆแล้ว ก็เป็นอันจะต้องถูกแรงโน้มถ่วงมหาศาลสูบจนเข้าไปสู่หลุมดำอย่างไม่มีทางเลี่ยง หากจะหนีออกมาเบื้องต้นมีทางเดียวเท่านั้น คือวัตถุนั้นจะต้องเร่งความเร็วให้มากชนิดที่เร็วใกล้ความเร็วแสง หรือเท่ากับ หรือมากกว่า! จึงจะหลุดพ้นออกจากอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของหลุมดำได้ แต่ในทางทฤษฎีแล้วเป็นไปไม่ได้ที่วัตถุใดจะมีความเร็วมากกว่าแสง และเมื่อใดที่วัตถุเกิดก้าวล่วงเข้าไปในเขตขอบฟ้าเหตุการณ์ของหลุมดำเรียบร้อยแล้วก็เป็นอันไม่สามารถออกมาได้อีกต่อไปตลอดกาลต่อให้มีความเร็วเท่าแสงก็ตาม (เพราะ แสง ออกก็ออกมาไม่ได้ดังเกริ่น) ... คำ "ขอบฟ้าเหตุการณ์" เกิดจากการเปรียบดั่ง ดวงอาทิตย์ที่พ้นขอบฟ้าไป มันแค่พ้นขอบฟ้าไปเท่านั้น ไม่ได้หายไป เหมือนกับหลุมดำ ถ้าเราเลยขอบเขตนั้นไปแล้ว ไม่ได้แปลว่าข้างในจะหยุดนิ่ง เหตุการณ์ของมันยังดำเนินต่อได้ แต่มันแค่ส่งข้อมูลออกมาไม่ได้ จึงเรียกขอบเขตนั้นว่า "ขอบฟ้าเหตุการณ์" ซึ่งเป็นขอบเขตสุดท้ายที่จะส่งข้อมูลออกมาได้ หรือมองเห็นเหตุการณ์ใดๆได้ เราจึงไม่รู้ว่าจริงๆแล้วภายในหลุมดำนั้นคืออะไรมีภาวะอย่างไร แต่ที่แน่ๆเชิงทฤษฎีด้วยหลุมดำมีแรงโน้มถ่วงมหาศาล แค่เราหรือวัตถุใดเฉียดเข้าใกล้ บริเวณขอบฟ้าเหตุการณ์ วัตถุก็จะโดนแรงโน้มถ่วงดึง-ฉีกร่างแหลกกระจุยกระจายเป็นเสี่ยงๆแล้ว อย่าว่าแต่เข้าไปสู่ใจกลางหลุมเลย!

* แต่กระนั้นทางทฤษฎีก็ได้มีการคาดการณ์ว่า หลุมดำที่พึ่งเกิดเช่นพึ่งเกิดได้ไม่กี่ชั่วโมง ถ้ามียานหรือมนุษย์อวกาศลงไปหลุมดำ ทันทีที่มนุษย์อวกาศคนนั้นเข้าถึงขอบฟ้าเหตุการณ์ก็จะโดย แรงไทดัล(Tidal Force) (หรือผลกระทบทุติยภูมิที่เกิดจากแรงโน้มถ่วง) ดึงฉีกร่างแหลกทันที! ... แต่ถ้ารอจนหลุมดำมีอายุหลายวัน แล้วมนุษย์อวกาศคนที่ 2 ลงไป พอคนนั้นผ่านขอบฟ้าเหตุการณ์จะไม่ตายทันทีเพราะแรงไทดัลลดลง แต่แล้วถ้าตกลึกลงมาเรื่อยๆสุดท้ายก็โดนแรงไทดอลฉีกร่างตายแบบคนแรกอยู่ดี ... และเมื่อหลุมดำมีอายุหลายปี แล้วมีมนุษย์อวกาศคนที่ 3 ลงไปหลุมดำ พอผ่านขอบฟ้าเหตุการณ์ไปเขาจะยังไม่ตายโดยทันที ทำให้เขามีชีวิตอยู่ได้อีกหลายชั่วโมงผ่านไป จนเขาก็จะค่อยๆตกลึงลงไปจนกระทั้งได้เจอเอกภาวะข้างใน และแล้วเขาก็จะถูกแรงโน้มถ่วงสูงอนันต์ฉุดกระชาก ซึ่งไม่ใช่กระชากแบบแรงดึงดูดปกติ แต่เป็นการกระชากดึงดูดในระดับที่อนุภาคเล็กกว่าอะตอมยังต้องเสียรูปทรงไปด้วย สุดท้ายอนุภาคอะตอมทั้งหลายจะเข้าไปรวมกับเอกภาวะ (*และในหนัง Interstellar ก็น่าจะใช้หลักการนี้ คูป เลยไม่ร่างแหลกตายในทันที ... ทั้งหนังก็จินตนาการเสริมต่อไปว่าภายในหลุมดำเป็นห้อง Tesseract สร้างโดยมนุษย์มิติที่สูงกว่าในอนาคต ดังที่ได้ทราบกันในท้องเรื่อง :)


9. เทสเซอแรค (Tesseract)
(ท้องเรื่องคือห้องมิติพิศวงในหลุมดำ): ในคลิปล่างนี้ คือ จินตนาการถึง 4 มิติ ของมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิต 3 มิติอย่างเรา ที่เรียกกว่า Tesseract หรือ Hypercube หรือ Hyperspace ... ใน Interstellar 2014 ถ้าใครนึกออกก็คือฉากห้องที่คูปลงไปในหลุมดำแล้วนั้นเอง ซึ่งจริงๆเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่ภาวะ 3 มิติปกติ แต่เป็นภาวะจำลองมากกว่า 4 มิติ ... คนในอนาคตจึง พยายามสร้างให้ คูป ที่มีร่าง 3 มิตินั้นได้คุ้นเคย ผลออกมาก็ตามที่เห็นในท้องเรื่อง เป็นห้อง Tesseract ดังเกริ่น


*ล่างนี้ภาพส่วนหนึ่งจากหนังสือ The Science Of Interstellar โดย Kip Thorne (นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ผู้เป็นที่ปริกษา Interstellar นั่นเอง) --- และนี่คือข้อมูลบางส่วนกรณีไอเดียห้องเทสเซอแรคใน Interstellar ที่เผยในแผ่น extra/bluray ตอน Across All Dimensions and Time: "เมื่อคูเปอร์เข้าสู่ เทสเซอแรค(Tesseract)(ในหลุมดำ) เขาพบว่ามันแสดงให้เขาเห็นที่ที่เดียวเท่านั้นในอวกาศ นั่นคือ ห้องของเมิร์ฟ แต่มันแสดง ให้เห็นหลายช่วงเวลา เราคิดไอเดียขึ้นมาว่า ทุกการกระทำในอดีต(การเคลื่อนไหว-การเคยมีตัวตนอยู่) ทั้งวัตถุทุกชิ้นที่อยู่ในห้องและตัวห้องเองนั้น จะทิ้งร่องรอยไว้ในกาลอวกาศ(Space-Time)เสมอ ซึ่งก็คือเส้นเวิร์คไลน์(World Lines) คูเปอร์ทางกายภาพแล้วไม่อาจย้อนเวลากลับไปได้ ... แต่เมื่อเขาอยู่นอกกาลอวกาศอยู่ในเทศเซอแรค สิ่งที่เขาทำได้คือเขาสามารถส่งข้อมูลเข้าไปสู่กาลอวกาศปกติ โดยเขาขยับเส้นเวิร์ลไลน์พวกนี้ หรือที่เราเรียกว่า เอ็กซ์ทรูซั่น(Extrusions) มันจะส่งคลื่นให้เดินทางไปตามสิ่งเหล่านี้ แล้วเข้าสู่ห้องนั้น จนส่งผลต่อวัตถุที่อยู่ในห้อง ซึ่งมันสมเหตุผลมากทีเดียว เพราะตามทฤษฎีของไอน์สไตน์ นั่นก็คือ แรงโน้มถ่วง มันคือคลื่น ที่แพร่ออกไป ผ่านกาลอวกาศ"


* เสริมสังเขป 0 มิติ = จุด, 1 มิติ = เส้น, 2 มิติ = พื้นที่ กว้างXยาว, และ 3 มิติ = กว้าง x ยาว X ลึก และเมื่อเรามี เวลา รวมกันแล้ว = Spacetime ก็เหมือนจะถือว่าเป็น 4 มิติด้วยก็จริง แต่ในเมื่อเวลาใน 3 มิติของเรา ยังเดินเป็นเส้นตรงเท่านั้น คือ จาก อดีต>สู่ปัจจุบัน>อนาคต จึงยังไม่นับว่าเราอยู่ในโลก 4 มิติที่แท้จริง ยังคงถือว่าเป็น 3 มิติอยู่นั้นเอง เพราะเวลาในแบบ 4 มิติจริงๆนั้น มันซ้อนได้-ย้อนได้! แบบจักรวาลมิติคู่ขนาน (*กรณีจักรวาลคู่ขนาน จะมีอธิบายเพิ่มอีก ด้านล่างๆต่อไป)

4 มิติ(หมายถึง มิติของ Space ยังไม่รวม Time) คือ 3 มิติซ้อน 3 มิติอีกที (ทำแบบ Tesseract ) +กับมิติเวลา/Time ที่น่าจะซ้อนกันด้วย ? (*และมันก็คือ ภาวะ spacetime ภพซ้อนภพทวีคูณ เวลาก็ทวีคูณ เป็นทำนองมิติคู่ขนาน) * แต่กระนั้นพึงระลึกว่า คนหรือสิ่งมีชีวิต 3 มิติ จะไม่มีวันเข้าใจ 4 มิติได้ 100% ทำได้ก็เพียงแค่จำลองจินตนาการถึง หรืออุปมาให้พอเห็นคอนเซ็ปเทียบกับในโลก 3 มิติของเราเท่านั้น ? (ยกเว้นเรามีเครื่องมือพิเศษ ในอนาคต ?) ... เพราะด้วยปกติสิ่งมีชีวิตที่มีมิติต่ำกว่า จะไม่มีวันได้เห็น-รับรู้โลกของสิ่งมีชีวิตในมิติที่สูงกว่าได้เลย อาทิ ถ้ามีสิ่งมีชีวิต 2 มิติ และมันเกิดมาเห็นเรา-รับรู้เราซึ่งเป็น 3 มิติ สุดท้ายมันก็จะเห็นเราแค่ 2 มิติเท่านั้น ถ้าจะอุปมามีพวก 2 มิติมาเห็นเรา ก็คงทำนองเห็นตัวเราเป็นแบบแค่เงาของเราบนแผ่นระนาบกำแพงเท่านั้น จะไม่สามารถเห็นความลึกและรายละเอียดพื้นผิวต่างๆที่เป็น 3 มิติของเราเลย

ส่วน 5-6 7... มิติ ก็ยิ่งจะเหนือความเข้าใจไปอีก (แต่มันก็มีเบาะแส+ไอเดียอยู่ตามทฤษฎีสตริง ในระดับอนุภาคเล็กกว่าอะตอม ไม่ใช่ระดับสสารวัตถุก้อนใหญ่ๆที่เราเป็น) ...* และจริงๆแล้ว Spacetime รอบตัวเราก็น่าจะมีครบทุกมิติในตัวอย่างแล้ว เพียงแต่เรารับรู้ได้แค่ 3 มิติแค่นั้น จีงเรียกจักรวาลที่เรารับรู้ใช้ชีวิตอยู่ได้นี้ว่าเป็นระบบ 3 มิติ แต่กระนั้นก็มีจักรวาลอื่นที่มีมิติที่มากกว่า(หรือน้อยกว่า) ทั้งมีสิ่งมีชีวิตมิติที่สูงกว่าด้วย ซ้อนจักรวาล 3 มิติเราอีกที (แต่เรารับรู้ไม่ได้เอง) ... ที่ว่ามาอาจงง+พิลึกหน่อย แต่หวังว่าพอเก็ทไอเดียกว้างๆเบื้องต้น

จากรูปประกอบ ด้านบนนี้ : โลก 2 มิติ(Flatland View) อันสิ่งมีชีวิต 2 มิติ มองเห็นโลก 3 มิติของเรา (เทียบกัน richer view ด้านล่าง) นั้นคือ มันจะเห็นเป็น เส้นเท่านั้น (ในพื้นที่หรือจักรวาลของมันที่ซ้อนจักรวาลเราอยู่ในที่เดียวกันนี่แหละ ในรูปก็คือบริเวณเส้นเป็นตัวแทนพื้นที่โลกหรือจักรวาล) แต่จากภาพจะพบเห็นว่ามันจะรับรู้ไม่ได้ทั้งหมด บางอย่างมันก็มองไม่เห็นอาทิ ลูกบิลเลียดที่ยังไม่กลิ้งมา เช่นเดียวกับที่คน 3 มิติอย่างเรา ไม่สามารถรับรู้บางอย่างของมิติที่สูงกว่า ถึงเห็นบ้างก็แค่บางส่วน และสิ่งที่เรามองไม่เห็นก็ต้องถือว่าไม่มีไว้ก่อน แต่ในความเป็นจริงมันมีอยู่ อย่างบางทีเราก็พบปรากฏการณ์แปลกๆ ซึ่งก็คงทำนองที่ลูกบิลเลียดในรูปเมื่อได้กลิ้งผ่านไปยังพื้นที่โลก 2 มิติแล้ว แต่ชีวิต 2 มิติ ก็จะไม่รู้ว่ามันคืออะไร เพราะจะเห็นเป็นเส้นเพียงเป็นแสงสีแวบๆไม่คงที่ แท้จริงคือลูกบิลเลียดอันเป็น 3 มิติ ได้กลิ้งผ่านจักรวาล 2 มิตินั้นไปนั้นเอง)


10. บัลค์ (Bulk):
พื้นที่เชื่อมระหว่างมิติที่ต่างกัน หรือภาวะที่มิติหรือภพภูมิหนึ่ง ได้ไปอยู่ในอีกภพภูมิอื่นอันเป็นคลละมิติกันได้ +_= ...ท้องเรื่องใน Interstellar ก็หมายถึงพื้นที่จำลองภายในหลุมดำโดยจำลองสภาวะภพภูมิของมิติที่ต่ำกว่า อาทิ คูเปอร์เป็นคนในระบบ 3 มิติ แต่ไปอยู่ในภพภูมิที่สูงกว่า 3 มิติ ( 4-5... มิติ) แต่โดยหลักการเบื้องต้นแล้ว (ดังเกริ่นในข้อที่แล้ว Tesseract ) เป็นไปไม่ได้ที่คนในมิติต่ำกว่าจะสามารถรับรู้มิติที่สูงกว่า จึงจำเป็นต้องสร้างพื้นที่พิเศษ 4 มิติจำลองขึ้นมา เพื่อที่คนที่เป็น 3 มิติอย่างคูเปอร์พอที่จะสามารถรับรู้ได้และใช้ประโยชน์ได้บ้าง (แต่ยังไงก็ไม่สามารถรับรู้แบบ 100% ได้เทียบเท่ากับสิ่งมีชีวิตที่มากกว่า 4 มิติแท้ๆ) ซึ่งพื้นที่จำลองในท้องเรื่องก็คือห้อง Tesseract ดังที่ได้เกริ่นไปแล้ว และก็เรียกห้องนี้เป็นศัพท์ฟิสิกส์ทางการอีกอย่างว่า "Bulk" (ดังนั้นถ้าว่าตามในหนังก็ไม่มีอะไรมากแค่ชื่อเรียกอีกชื่อของ Tesseract หรือ Hyperspace) ... +มีศัพท์อีกคำที่เกี่ยวข้องกับ Bulk แต่ไม่ได้เอ่ยในหนังก็คือ "Brane"(Membrane) คำ Brane ก็คือจักรวาลนั้นเอง ใช้เรียกในกรณีแนวคิดของทฤษฎีจักรวาลคู่ขนาน(Parallel Universe)และ พหุจักรวาล(Multiverse) (อันเป็นผลสมมุติฐานจาก ทฤษฎีควอนตัม-ทฤษฎีสตริง-ทฤษฎี M *จะอธิบายต่อไปล่างๆ) เป็นแนวคิดที่ว่า มีจักรวาลมีหลายจักรวาล และแต่ละจักรวาลก็อาจมีทั้งที่เป็นมิติเหมือนกันก็ได้หรือต่างกันก็ได้ อาทิ จักรวาลของเราถือเป็น 3 มิติ จักรวาลอื่นมีมิติมากกว่าเป็น 4 -5 มิติหรือสูงกว่านั้น และแม้บางจักรวาลเป็นระบบ 3 มิติเหมือนกัน แต่ก็อาจอยู่ในกฏธรรมชาติหรือกฏฟิสิกส์ที่ต่างกัน! ก็พูดได้ว่าเป็นคนละ Brane กัน

* สรุปเสริม: 1 Brane = จักรวาลหนึ่ง ส่วน Bulk อุปมาก็คือพื้นที่ระหว่างจักรวาลต่างๆ หรืออีกนัยยะก็เป็นพื้นที่ไฮเปอร์สเปชหรือพื้นที่ภาวะพิเศษที่อาจช่วยให้สิ่งที่มีมิติต่ำกว่า พอจะรับรู้หรือเข้าไปอยู่ในจักรวาลอื่นๆที่มีมิติสูงๆกว่าได้บ้าง ?(แค่อาจจะนะ ก็ถ้าร่างกายอันมวลใหญ่ที่เราเป็น สามารถหลุดเข้าไปในบัลค์ได้ แต่โดยเบื้องต้นดูจะเป็นไปไม่ได้เลย?) และจักรวาลแต่ละจักรวาลที่จริงแล้วมันซ้อนกันอยู่!(ประมาณภพซ้อนภพโลกซ้อนโลก!) ประหนึ่งก็อยู่ในที่เดียวกันนั้นแหละ! ซึ่งเป็นภาวะที่นามธรรมมากและเหนือสามัญสำนึกมาก การอธิบายหรือการแสดงเป็นรูปภาพต่างๆอย่างภาพข้างล่างนี้จึงแค่การอุปมาให้เข้าใจง่ายขึ้นเท่านั้นไม่ได้หมายความว่าจักรวาลมันเป็นแผ่นๆแบนๆ (ก็ทำนอง หลุมดำ หรือ รูหนอน เป็นแผ่นๆ แต่หน้าตาจริงๆไม่ใช่หลุมหรือรูแต่ประการใด แต่เป็นลักษณะแบบทรงกลมมากกว่า กรณี Brane ก็เช่นกัน เพราะจักรวาลไม่ได้เป็นแผ่นกระดาษ :) ... (Brane และ Bulk คือผลการศึกษาของ string theory และ M-theory ซึ่งอย่างที่รู้กัน อันมีแต่เรื่องเกินสามัญสำนึก ทำเนองเดียวกับทฤษฎีควอนตัม ... ทฤษฎีเหล่านี้เน้นศึกษาสิ่งระดับอนุภาคเล็กมากกกกในระดับ SubของSub-Atom อีกที)


11. ทฤษฎีควอนตัม หรือ กลศาสตร์ควอนตัม (Quantum theory หรือ Quantum physics, Quantum mechanics) :
คือทฤษฎีฟิสิกส์ที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวสสาร(+พลังงาน)ในระดับอนุภาคที่เล็กยิ่งกว่าองค์ประกอบของอะตอม!โดยเฉพาะ(ดูรูปล่างประกอบ) และพบว่ายิ่งเล็กมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งพบความพิลึก เพราะมันมีพฤติกรรมประหลาดและเหลือเชื่อเหนือสามัญสำนึกมากมาย เรียกว่าสำหรับในโลกระดับอนุภาคหรือควอนตัมแล้ว แม้แต่กฏฟิสิกส์ทั่วๆไปหรือทฤษฎีสัมพัทธภาพที่เราคุ้นเคย ก็ไม่สามารถใช้กับมันได้ ทั้งยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับตัวแปรอย่างผู้สังเกต อันจะส่งผลต่อพฤติกรรมของมันให้เปลี่ยนไปอีกแบบด้วย อาทิ บางทีอนุภาคเปลี่ยนสภาวะเป็นคลื่นเมื่อเราไม่สังเกต แต่พอมีการเข้าไปสังเกตตรงๆกลับเปลี่ยนเป็นอนุภาค (ราวกับจะตอบโต้/มีชีวิต!) หรืออุปมาในทำนองที่ว่า ดวงจันทร์จะหายไป(หมายถึงหายสาบสูญไปเลยจริงๆ) หากไม่มีผู้สังเกตไปเพ่งมองเห็นมัน ที่มีดวงจันทร์ก็เพราะมีผู้ไปสังเกตมันปฏิสัมพันธ์ต่อกัน และทุกอย่างในจักวาลอุบัติขึ้นตามปฏิกิริยาจากการมีสิ่งไปสังเกตและวัตถุที่ถูกสังเกต ประหนึ่งมาคู่กันเสมอและอะไรที่เหนือสามัญสำนึกที่เรียกกันว่าปาฏิหาริย์ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้นั้น ล้วนมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในโลกของควอนตัน อาทิ การย้อนเวลา, การหายตัว, การปรากฏเป็นหลายร่าง, หรือการมีมิติที่มากกว่า 3 มิติ ฯลฯ ซึ่งถ้ามีการศึกษาและพัฒนาควอนตัมมากขึ้นจนเข้าใจกลไกของมันลึกขึ้นและสามารถควบคุมมันได้ (ตัวอย่าง องค์กรดังที่กำลังศึกษา-ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับอนุภาค/ควอนตัมอยู่ ที่โด่งดังก็อาทิ CERN) ในอนาคตก็ไม่แน่ที่จะประยุกต์มาใช้ในชีวิตจริงๆก่อเกิดเป็นสิ่งเหลือเชื่ออีกมากมาย อาทิ การหายตัว! หรือการบีบ แบบใน Star Trek ที่ย้ายร่างหรือวัตถุใดๆจากที่หนึ่งไปยังอีกที่อย่างรวดเร็วพริบตา หรือการติดต่อกับสู่มิติที่สูงกว่าที่ 4 5 6 ... และใน Intersellar เอง สมการควอนตัม(ปริศนา) ก็คือตัวแปรที่น่าจะใช้จัดการกับแรงโน้มถ่วง ช่วยอพยพคนย้ายจากโลกไปที่อยู่ใหม่อย่างสถานีโคโลนี่ได้ ซึ่งก็คือ "กฎแรงโน้มถ่วงควอนตัม" (ในหนังก็ไม่ได้บอกว่า คือ สมการอะไร? แล้วจะย้ายผู้คน-วัตถุ-ยาน ฯลฯ ออกนอกโลกในลักษณะอย่างไรกันแน่)



* เชิงควอนตัมแล้ว องค์ประกอบที่เล็กที่สุดของสสาร มีขนาดประมาณ ความยาวพลังค์(Planck length) = 1.6 x 10-35 เมตร / ขณะเวลาที่สั้นที่สุด คือเวลาพลังค์(Planck time) =5.3 x 10-44 วินาที ... ข้อน่าพิจารณาต่อ กรณีถ้า เวลา = 0 ... คงเป็นไปไม่ได้ ? และดูจะไม่มีความหมาย ? เพราะคือภาวะที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยได้อย่าง สมบูรณ์ ??? ( เวลา คือ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนจากภาวะหนึ่งสู่ภาวะหนึ่งได้ ในทุกกรณี และทุกสิ่งต้องเปลี่ยนแปลงเสมอ แม้ในระดับน้อยนิดอย่างน้อยก็ในระดับช่วงขณะเวลา Planck time ) ... และถ้าจะค้นคว้าปริศนาสิ่งทีเล็กกว่า Planck length และเวลาที่สั้นกว่า Planck time (ถ้ามี)(อาจเป็นภาวะก่อนบิ๊กแบง เลยมั้ง ? หรือไม่ก็ในหลุมดำ ? ) ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องเร่งอนุภาคที่มีพลังงานสูงยิ่งกว่าเครื่อง LHC ที่ CERN ปัจจุบันมหาศาล (ซึ่งอาจเป็นไปได้ยากส์มากส์ๆ) แต่ถึงเป็นได้นักฟิสิกส์ก็ไม่แน่ใจว่าจะพบอะไรเพิ่มไหม ? (หรืออาจมีอะไรเชิงสตริง-มิติพิเศษที่สูงขึ้นไป ตามในทฤษฎีสตริง-เอ็ม ...)


* เสริมเพิ่ม ที่เกี่ยวข้องกับต่อเนื่องจากทฤษฎีควอนตัม สู่ทฤษฎีสตริง-เอ็ม

- กฎแรงโน้มถ่วงควอนตัม (Quantum Gravity)
คือ กฎฟิสิกส์ที่ได้จากการรวมกันของสัมพัทธภาพทั่วไป กับกลศาสตร์ควอนตัม แต่น่าเสียดายที่เมื่อรวมกันแล้ว ในความจริงจริงกลับยังทำความเข้าใจได้น้อยมาก และในท้องเรื่องกฎฟิสิกส์หรือสมการปริศนาที่เมิร์ฟได้รับจากคูเปอร์ก็น่าจะเป็นกฎแรงโน้มถ่วงควอนตัมนี่เอง อันเป็นสมการในรูปแบบที่ทำความเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์แล้ว เนื่องจากเมิร์ฟได้รับข้อมูลที่อยู่ข้างในขอบฟ้าเหตุการณ์และบริเวณที่มีซิงกูลาริตี้โดยตรง จึงได้ค่าต่างๆตามความเป็นจริง (ไม่ใช่การคำนวณทางคณิตศาสตร์ผ่านแบบจำลอง) และนั่นนำไปสู่การเข้าใจกฎแรงโน้มถ่วงควอนตัมที่สมบูรณ์ และหนึ่ง ในผลลัพธ์ที่ได้จากการเข้าใจในสิ่งนี้ที่ปรากฎในหนัง คือ การสร้างโคโลนี ที่ทำให้มันลอยออกนอกโลกไปได้ โดยที่ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงใดๆ เป็นการควบคุมแรงโน้มถ่วงได้อย่างสมบูรณ์ ... และตอนคูเปอร์อยู่ใน Tesseract คูเปอร์ได้ส่งข้อมูลด้วยการส่ง "คลื่นแรงโน้มถ่วง"(Gravitational Wave) ซึ่งส่งเป็นจังหวะของรหัสมอร์ส คลื่นแรงโน้มถ่วงคือ ริ้วความโค้งของ Spacetime ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่าแสง อันในความเป็นจริง ไอน์สไตน์ ก็ได้เคยพยากรณ์สิ่งนี้ตั้งแต่ปี 1916 แล้ว (และล่าสุดก็มีการตรวจพบว่ามีอยู่จริงประกาศเป็นทางการปี 2016)

- ทฤษฎีสตริง (String Theory / Superstring Theory): เป็นการศึกษาอนุภาคที่ยกเลิกสมมุติฐานในทฤษฎีควอนตัมที่ว่าอนุภาคที่เล็กที่สุดนั้นเป็นเหมือนจุดหรือเม็ดๆ(0มิติ) โดยแทนทีด้วยแนวคิด อนุภาคเล็กสุดจะมีลักษณะคล้ายสตริงหรือสาย(1มิติ) และทุกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น ก็จากความถี่หรือการสั่นของสตริงที่แตกต่างกันออกไป ถี่น้อยก็เป็นสิ่งหนึ่ง ถี่มากขึ้นก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งไปไม่รู้จบสิ้น ทำให้มีความหวังว่าทฤษฎีสตริงจะพัฒนาไปสู่การช่วยให้ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงควอนตัมเป็นที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ทฤษฎีสตริงยังปรากฏว่าสามารถที่จะรวม แรงธรรมชาติที่รู้จักทั้งหมดเข้าด้วยกันได้ (แรงโน้มถ่วง, แรงแม่เหล็กไฟฟ้า, แรงอันตรกิริยาแบบอ่อน และแรงอันตรกิริยาแบบเข้ม) ด้วยชุดสมการเดียวกัน

- M Theory: เป็นศาสตร์ฟิสิกส์อีกแขนงที่พัฒนาต่อยอดจากทฤษฎีสตริง ซึ่งว่ากันว่าเป็นศาสตร์ที่ยากที่สุดบนโลกที่จะทำความเข้าใจหรืออุปมาให้เข้าใจกันง่ายๆได้ ก็อาจจะเข้าใจกับในหมู่นักฟิสิกส์ที่ศึกษาด้านนี้โดยตรงเท่านั้น ... ถูกพัฒนาโดย Edward Witten นักคณิตศาสตร์-ฟิสิกส์ ชาวอเมริกัน และเชื่อว่า มันจะเป็นทฤษฏีที่อธิบายทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างครอบคลุมที่สุด

- มิติคู่ขนาน หรือ จักรวาลคู่ขนาน (Parallel Universe): รากเหง้าที่มาของแนวคิดนี้เกิดมาจากทฤษฎีควอนตัม และ ทฤษฎีสตริง/ซุปเปอร์สตริง และทฤษฎี M ข้างต้นนั่นเอง ด้วยทำให้เราเห็นพฤติกรรมประหลาดของอนุภาคอย่างหนึ่งคือ ในระดับอนุภาคแล้ว มันสามารถอยู่ในหลายๆที่พร้อมกันได้ เข้าทำนองมีตัวเราหลายคนแต่อยู่ในมิติหรือจักรวาลอื่นหลายๆที่ในคราวเดียวได้ อีกนัยยะก็คือสะท้อนว่ามันมีหลายจักรวาล! ที่เรียกว่า "พหุจักรวาล"(Multiverse) และดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า แต่ละจักรวาลอาจมี 3 มิติเท่าเรา หรือน้อยกว่า หรือสูงกว่าก็ได้ ... และนักฟิสิกส์พบว่าจำนวนมิติต่างๆของ Spacetime ในจักรวาลอาจจะมีถึง 10 มิติ คือ เวลา+อวกาศอีก 9 มิติ ทั้งในทฤษฎี M ยังพบว่า Spacetime อาจจะมีได้ถึง 11 มิติ คือ เวลา และอวกาศอีก 10 มิติ แต่สำหรับในจักรวาลของเรานั้น เราสังเกตจะจำนวนมิติได้เพียงแค่ 4 มิติเท่านั้น ทั้งยังถือว่าเรายังมีเข้าใจต่อ มิติ เวลา ยังน้อยอยู่มาก ... ทฤษฎีสตริงเรียกมิติที่เกินกว่ามิติ 4 เป็น มิติพิเศษ (Extra dimension)

* จากกรณีจักรวาลมากมาย จึงมีศัพท์ใหม่ว่า "อภิจักรวาล" (Megaverse) อันหมายถึง จักรวาลหมดทั้งปวง อภิใหญ่มากกกกไปอีก ... ทั้งจักรวาลเราและจักรวาลอื่นๆ แน่ละไม่รู้ว่ามีอยู่เท่าไหร่ ? (อันอาจมีกฏฟิสิกส์แบบอื่นที่ต่างออกไปจากเรา และยังมีจักรวาลอื่นๆในลักษณ์มิติที่สูงกว่าเรา รวมทั้งเชิงประเภทจักรวาลคู่ขนาน(Parallel universe) เชิงภพซ้อนภพอีกต่างหาก


* เสริมกรณี จักรวาล-ไฮเปอร์สเปซ 11 มิติ
(ตาม StringTheory และ M-theory สมทบ) โดยสังเขป

*รูปจำลอง จักรวาลไม่ได้มีจักรวาลเดียว แต่มีหลายจักรวาล(หรือหลาย brane) ลอยอยู่บนโฮเปอร์สเปซ

- รากฐานที่เล็กสุดของจักรวาล-สรรพสิ่ง ไม่ใช่อะตอม หรือ ควาร์ก... แต่ยังมีองค์ประกอบเล็กย่อยกว่านั้น ที่สุดของทีสุดก็คาดว่าลักษณะทำนองเป็น เส้นๆหรือสตริงที่สั่น (รูปแบบ การสั่น ที่ต่างกัน จะก่อเกิดรูปแบบองค์ประกอบเป็นอะตอม-สสาร-สรรพสิ่ง ที่ต่างๆกันไป)

- จักรวาลมีหลายจักรวาล เกิดขึ้น(บิ๊กแบง) และลอยอยู่ ในพื้นที่อภิมหึมา!(เรียกรวมกันทั้งหมดว่า Megaverse) เกินจะบรรยาย ที่เรียกอีกอย่างว่าเป็น "ไฮเปอร์สเปซ 11 มิติ" (มีรากฐานเป็น สตริง เช่นกัน) ... (ปกติเฉพาะจักรวาลของเรา เท่าที่สังเกตได้ก็ใหญ่เกินบรรยายอยู่แล้ว +_+ )

- แต่ละจักรวาล อาจมีทั้งที่เป็น 3 มิติ...หรือสูงกว่า 4-5--11.... แต่สุงสุดจะไม่เกิน 11 มิติ (*เหตุผลเชิงทฤษฎี ถ้าเกินกว่า 11 จะไม่เสถียร เกิดเป็นจักรวาลไม่ได้ ) ... แต่ละจักรวาล ทฤษฎีมีศัพท์เฉพาะ เรียกว่า membrane หรือ brane (อันรวมทั้งจักรวาลเชิงกายภาพอื่นๆ((Multiverse) และก็จักรวาลเชิงซ้อนแบบคู่ขนาน! (Parallel universe) ... จักรวาลเราก็เป็นเพียง brane หนึ่ง (เคยได้ยินว่า เมื่อ brane ชนกัน ก่อให้เกิด บิ๊กแบง ใหม่ได้ด้วย ?)

- จักรวาลของเราเป็นลักษณะ Space 3มิติ + Time อีกหนึ่ง (นับเป็น 4 มิติ) ก็แบบที่ชีวิตเรารับรู้ได้และใช้ชีวิตอยู่...ส่วนมิติอื่นๆจริงๆก็มีครบทั้ง 11 มิติ เช่นกัน เพียงแต่มิติที่สูงกว่าขึ้นๆไปในจักรวาลเรานั้นเชื่อว่า ขดตัวขนาดเล็กกว่าอะตอม ซ่อนเร้นอยู่ (... กระนั้น มิติที่สูงๆขึ้นไป ก็ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนมากนัก)

- คาดว่าเราอาจทะลุข้าม ไปมิติอื่นได้ โดยผ่านรูหนอน หรือ หลุมดำ ... แต่ยังไม่มีวี่แววเป็นไปได้มากนัก ... * พืนที่ระหว่าง brane เรียกว่า Bulk (ทำนองหนัง Interstellar ) ...

- จักรวาลกำเนิดจากบิ๊กแบง ในพื้นที่ไฮเปอร์สเปซ ก็มีบิ๊กแบงอื่นๆเกิดขึ้นมากมายและตลอดเวลา! และมีจักรวาลเก่าใหม่เกิดตาย!ตลอดเวลาเช่นกัน

และจากทฤษฎีทั้งหมดทั้งปวงหลายๆอย่างก็ออกจะแสนจะพิศวงงงงวยออกจะเหนือสามัญสานึกไปจนยากจะเชื่อ ... ทำให้นึกถึง คำโปรยหนึ่ง จาก Teaser ตัวแรงสุดของ Interstellar นั้น ... "เรามนุษยชาติยังเป็นแค่ผู้บุกเบิก เรียกว่าแทบไม่ได้เริ่มต้นเลยด้วยซ้ำ ! " ซึ่งคือความจริง แม้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปมากพอควร แต่ความลี้ลับอีกมากมายที่ยังไม่ถูกเผยหรือไม่สามารถพิสูจน์ได้ 100% ... สิ่งที่ค้นพบสิ่งที่รู้ ณ ขณะนี้ จึงยังน้อยนิดเมื่อเทียบกับสิ่งที่ยังไม่รู้



+แถมยานหลัก+และอุปกรณ์สำคัญใน Interstellar

- Space Launch System
: กระสวยอวกาศที่ส่งยานและสัมภาระทุกสิ่งทุกอย่างจากพื้นโลกสู่ห้วงอวกาศ ... *ดูในรูปประกอบล่างนี้เมื่อเปรียบเทียบกับ Space Shuttle หรือกระสวยอวกาศจริงๆของ NASA แล้ว จะพบว่าใน Interstellar นั้นใหญ่กว่าสองเท่า

- เอ็นดูแรนซ์ (Spaceship Endurance): หรือยานแม่หลักที่มีลักษณะเป็นรูปวงแหวนมีกล่องโมดูลต่างๆล้อมรอบ และจะหมุนวนเพื่อสร้างพลังงานในการขับเคลื่อน ทั้งสร้างแรงโน้มถ่วงเทียมภายในยาน (เพราะในอวกาศมีแรงโน้มถ่วงน้อยจนตัวลอย จึงต้องสร้างแรงโน้มถ่วงเทียมขึ้นมาเพื่อสะดวกในการดำรงชีวิต)

- เรนเจอร์ (Ranger): = ยานสำรวจลำเล็กที่ใช้สำหรับเดินทางเข้าไปสำรวจในดาว ที่เน้นความคล่องตัวและรวดเร็ว ในเอ็นดูแรนซ์จะประกอบไปด้วย เรนเจอร์ 2 ลำ คือเรนเจอร์ 1 และเรนเจอร์ 2

- แลนเดอร์ (Lander): = ยานสำรวจอีกแบบที่ติดมากับยานเอ็นดูแรนซ์ มีลักษณะใหญ่กว่าเรนเจอร์ เป็นยานที่เน้นทำงานในภาคพื้นดิน บรรทุกสัมภาระอุปกรณ์ต่างๆในการตั้งอาณานิคมบนดวงดาว รวมทั้งโพรบ(ข้อถัดไป) แลนเดอร์มี 2 ลำเช่นกัน


- โพรบ (Probe):
ใช้เรียกอุปกรณ์หรือยานลำเล็ก ที่ไม่มีคนบังคับ ที่ถูกส่งออกไปเพื่อสำรวจดวงดาว และส่งข้อมูลของสภาพดาวกลับมายังฐาน (และ Probe ถูกสร้างขึ้นใช้จริงๆมากมายรูปแบบต่างๆกันไป ไม่ได้มีเฉพาะในหนัง)

* เสริม: สลิงช็อต (Sling shot หรือ Gravitational Slingshot หรือ Gravity Assist): คือวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการเดินทางระหว่างดาวในอวกาศจริงๆ โดยส่งยาน Probe หรือยานอื่นๆก็ตาม ให้เคลื่อนที่ไปใกล้กับดาว(หรือเทหวัตถุใดๆในอวกาศ)และอาศัยแรงเหวี่ยงจากแรงโน้มถ่วงของดาวนั้นๆ ช่วยผลักยานให้เคลื่อนที่ไป แทนที่จะใช้พลังขับเคลื่อนหลักตัวจากยานเองล้วนๆอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานยานได้ไปในตัว โดยเฉพาะถ้าดาวหรือเทหวัตถุที่มีมวลมากหรือมีแรงโน้มถ่วงสูงก็จะเหวี่ยงแรงผลักได้แรงขึ้นอีกมากนั่นเอง (อาทิการสลิงช็อตใกล้ ดวงอาทิตย์ หรือ หลุมดำ)


ประเด็นนี้ หลายคนคงไม่คุ้นเคย จึงไม่รู้ว่า แท้จริงการเดินทางนอกอวกาศนั้นไม่ใช่แค่ขับพุ่งยานไปข้างหน้าบังคับซ้ายขวาตามใจชอบแบบขับรถในโลกเรา ... เหตุก็ด้วยนอกอวกาศมีแรงโน้มถ่วงมากมายรบกวนโดยเฉพาะยิ่งเข้าใกล้ดาวที่มวลมาก/แรงดึงดูดมากอย่างดวงอาทิตย์ (หรือหลุมดำขนาดยักษ์ใน Interstellar) และ มนุษย์ก็ได้คิดแก้ปัญหา+ใช้ประโยชน์จากแรงโน้มถ่วงมาช่วยขับเคลื่อนยาน เรียกเทคนิคนี้ว่า "สลิงช็อต" ในที่นี้นั่นเอง

* ตัวอย่างคลิปแสดงการ สลิงช็อต ของ NASA จริงๆ ล่าสุด กับ ยาน Juno(คลิปซ้าย)ไปดาวพฤหัส และ(ขวา) ยานอวกาศโรเชตตา(Rosetta spacecraft) ลงจอดดาวหางซีจี ซึ่งใช้การสลิงซ็อตหลายรอบ ถือเป็นกรณีศึกษาของจริงที่น่าสนใจมาก ด้วยการ เดินทางแบบสลิงช็อตอาศัยแรงเหวี่ยงของแรงดึงดูดดาวทำนองนี้ ไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆเลย ต้องอาศัยความแม่นยำมากทั้งทิศทาง และความเร็วต้องพอเหมาะ ไม่เข้าใกล้ หรือ อยู่ห่างจนเกินไป ถ้าเข้าใกล้มากไปก็จะถูกดูดโหม่งดาวไป ถ้าอยู่ไกลเกินไปแรงเหวียงไม่พอ ก็เดินทางไปดาวอื่นไม่ได้

- Hypersleep หรือ Cryosleep หรือ แคปซูลจำศีล (ยังเป็นแค่ไอเดียเท่านั้น ยังไม่เกิดขึ้นจริง) อันเป็นเครื่องที่ใช้สำหรับนอนหลับยาว ทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะหยุดนิ่งสนิท ก็คือเมื่อเข้าไปนอนพักในแคปซูลนี้แล้ว จะทำให้ร่างกายได้หลับนิ่งลึกยาวนานโดยไม่ต้องกินอาหาร ขับถ่าย ฯลฯ ทำนองเดียวกับการหลับจำศีล(Hibernate) ของกบและสัตว์บางประเภท จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับกรณีการเดินทางที่ต้องกินเวลายาวนานหลายปีในห้วง อวกาศ ทั้งนี้ก็เป็นการประหยัดอาหาร-วัตถุดิบ-พลังงานอันจำกัด ทั้งลดกิจกรรมการดำรงชีวิตประจำวันหยุบหยิมต่างๆบนยานอวกาศนั้นเอง และที่น่าทึ่งที่สุดสำหรับอีกไอเดียของคุณสมบัติเครื่องจำศีลในไซ-ไฟหลายๆ เรื่องอาทิ Alien, 2001 A space odyssey และแม้แต่ Interstellar เอง ก็คือ มันยังช่วยรักษาสภาพร่างกายให้คงสภาพไม่แก่หรือเสื่อมสภาพแม้จะนอนพักยาว นานนับหลายสิบปี! เรียกว่าหยุดนิ่งจริงๆ หมายความว่าเมื่อเริ่มนอนตอนอายุเท่าไร พอตื่นขึ้นมาอีกครั้งก็จะมีสภาพร่างกายที่อายุเท่าเดิม!

* เสริมดูเล่น: ตัวอย่าง แคปซูลจำศีล" ใน Event Horizon (1997) ก็เป็นอีกแบบที่มีการแช่น้ำ(ทำนองเดียวกับ Interstellar)

* "แคปซูลจำศีล" - จากหนังไซ-ไฟอื่นๆ แบบไม่ต้องแช่น้ำ



+ แนะนำ หนัง Sci-Fi อวกาศ เก่าก่อนๆที่เคยมีมาบางเรื่อง ที่ออกแนวค่อนข้างสมจริงหน่อย เทไปโทนๆค่อนข้าง Hard Sci-Fi อวกาศ ทำนองเดียวกับ Interstellar เผื่อใครสนใจตามหาดู อาทิ ... 2001 A Space Odyssey(1968),.. The Right Stuff(1983),.. 2010 The Year We Make Contact(1984),.. Apollo 13(1995),.. Contact (1997),.. Event Horizon (1997),.. Mission to Mars (2000),.. Red Planet (2000),.. Solaris (2002),.. Sunshine (2007),.. Apollo 18(2011),.. Europa Report (2013),.. The Last Days On Mars (2013),.. Gravity (2013) เป็นต้น

+ แนะนำอีกบทความ " รีวิวแนะนำหนัง Sci-Fi ระดับตำนานที่เคยมีมา ที่ทั้งทรงอิทธิพลต่อ ผู้กำกับโนแลน ในการสร้าง Interstellar และ Sci-Fi อื่นๆบางเรื่องที่ชวนให้คิดถึงความคล้ายในองค์ประกอบบางส่วนเทียบกับ Interstellar ด้วย *ก็เป็นอีกบทความจัดเต็ม ที่ไม่ควรพลาด เพื่อได้รู้จักกับสุดยอด Hard Sci-Fi บางเรื่องแนวๆเดียวกับ Intrstellar ที่เคยมีมาในอดีตด้วยไปในตัว โดยเฉพาะไซ-ไฟขึ้นหิ้งอย่าง 2001: A Space Odyssey (1968), Contact (1997), Gravity (2013) สนใจตามไปอ่านต่อ คลิกที่นี่